ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จีนลงทุน ‘เส้นทางสายไหมดิจิทัล’ พร้อมคุมเข้มอินเทอร์เน็ตอาเซียน


แฟ้ม - พนักงานทำงานในส่วนผลิตโทรศัพท์มือถือของ Huawei ในมณฑลกวางตุ้ง จีน 6 มี.ค. 2019 (AP Photo/Kin Cheung, File)
แฟ้ม - พนักงานทำงานในส่วนผลิตโทรศัพท์มือถือของ Huawei ในมณฑลกวางตุ้ง จีน 6 มี.ค. 2019 (AP Photo/Kin Cheung, File)

จีนผลักดันความช่วยเหลือกลุ่มประเทศอาเซียนในการสร้างความทันสมัยให้กับโลกดิจิทัล ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อันเป็นส่วนหนึ่งของ “เส้นทางสายไหมดิจิทัล” หรือ Digital Silk Road แต่บรรดานักสิทธิ์มนุษยชนต่างมองว่ารัฐบาลปักกิ่งกำลังใช้โครงการดังกล่าวในการส่งออกรูปแบบการกำกับดูแลดิจิทัลแบบเผด็จการผ่านการเซนเซอร์ การตรวจตราสอดแนม และการคุมเข้มในภูมิภาคนี้

สื่อทางการจีนรายงานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า บริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สัญชาติจีน ไมเดีย กรุ๊ป (Midea Group) ได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมของไทย เอไอเอส (AIS) ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมจีน ไชน่า ยูนิคอม (China Unicom) และบริษัทหัวเหว่ย (Huawei) ในสร้างโรงงาน 5จี ในต่างประเทศเป็นแห่งแรกที่ประเทศไทย

สื่อ Xinhua ของจีน เผยว่า โรงงานอัจฉริยะ หรือ smart factory บนพื้นที่ 208,000 ตารางเมตรแห่งนี้ จะมีโครงข่ายอินเทอร์เน็ต 5จี เป็นของตนเองด้วยเช่นกัน

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม รัฐบาลปักกิ่งบรรลุข้อตกลงกับกัมพูชาในการจัดตั้งหอสมุดกฎหมายดิจิทัลแห่งสมัชชารัฐสภาอาเซียน ตามรายงานของสื่อ Khmer Times ที่ระบุว่าสิ่งนี้มีเป้าหมายในการ “ขยายความร่วมมือรอบด้านซึ่งสอดคล้องกับความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์และสร้างชุมชนที่มีจุดหมายปลายทางร่วมกัน“

แต่สิ่งที่คู่ขนานกับเรื่องการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่สื่อทางการจีนผลักดัน คือการที่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนต่างมองว่ารัฐบาลปักกิ่งกำลังช่วยเหลือประเทศในภูมิภาคอาเซียน ในการสร้างสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “การกำกับดูแลดิจิทัลแบบเผด็จการ”

องค์กร Article 19 ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนสากลที่มุ่งเน้นเรื่องการสนับสนุนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทั่วโลก ซึ่งตั้งชื่อองค์กรตาม Article 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เผยแพร่รายงานเมื่อเดือนเมษายนว่า เป้าหมายของเส้นทางสายไหมดิจิทัล ไม่ได้มีแค่การสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีนแต่เพียงอย่างเดียว

ในรายงาน China: The rise of digital repression in the Indo-Pacific ชี้ว่ารัฐบาลปักกิ่งใช้เทคโนโลยีของตนเพื่อปรับเปลี่ยนมาตรฐานของเสรีภาพและการกำกับดูแลด้านดิจิทัลให้สอดคล้องกับจีนมากขึ้น

วีโอเอได้ติดต่อสถานทูตจีนประจำสหรัฐฯ เพื่อขอความเห็นในเรื่องดังกล่าว แต่ไม่มีการตอบกลับมาในช่วงเวลาที่รายงานข่าวชิ้นนี้

การกำกับดูแลดิจิทัลของจีน

รายงานของ Article 19 ได้ตรวจสอบกรณีศึกษาในกัมพูชา เนปาล และประเทศไทย พบว่ารัฐบาลปักกิ่งเผยแพร่รูปแบบการกำกับดูแลด้านดิจิทัลของจีน ควบคู่ไปกับการลงทุนและเทคโนโลยีที่มาจากบริษัทจีนอย่างเช่น หัวเหว่ย แซดทีอี และอาลีบาบา

ไมเคิล แคสเตอร์ ผู้จัดการโครงการฝ่ายดิจิทัลเอเชีย ของ Article 19 กล่าวกับวีโอเอว่า “จีนประสบความสำเร็จในการจัดส่งบริการที่จำเป็น ไม่เพียงแค่การส่งมอบการพัฒนาด้านดิจิทัลผ่านการเชื่อมต่อที่มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการทำให้การพัฒนาด้านดิจิทัลสอดคล้องกับการกำกับดูแลด้านดิจิทัลของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งแตกต่างจากหลักการด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพด้านอินเทอร์เน็ต โดยแทนที่ด้วยการส่งเสริมการควบคุมของรัฐผ่านการเซนเซอร์ การสอดแนม และอธิปไตยด้านดิจิทัลที่ห่างไกลจากบรรทัดฐานสากล”

องค์กร Article 19 ยังระบุว่าประเทศไทย ที่ตั้งของชุมชนจีนโพ้นทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก บรรลุข้อตกลงกับจีนในการสนับสนุนการควบคุมด้านอินเทอร์เน็ตที่บังคับใช้ หลังการก่อรัฐประหารของไทยในปี 2014 และระบุว่าไทยพิจารณา Great Firewall หรือมาตรการปิดกั้นทางอินเทอร์เน็ตที่รัฐบาลจีนนำมาใช้กลั่นกรองเนื้อหาและสกัดกั้นเว็บไซต์ต่างประเทศ เช่น Google X และเว็บไซต์สื่อต่างชาติ

ส่วนที่เนปาล ในรายงานขององค์กร Article 19 พบว่าเนปาลมีข้อตกลงด้านความมั่นคงและด้านข่าวกรองกับจีน และกังวลว่าเทคโนโลยีกล้องวงจรปิดของจีนได้นำมาใช้ในการสอดแนมชาวทิเบตที่ลี้ภัยที่นั่นด้วย

สำหรับกรณีของมาเลเซีย ทางองค์กร Article 19 เห็นว่าแนวทางด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลของมาเลเซียมีความละม้ายคล้ายรูปแบบของจีน โดยอ้างถึงกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ของมาเลเซียที่เพิ่งได้รับมติรับรองเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และความร่วมมือของมาเลเซียกับบริษัทจีนที่มีเทคโนโลยีที่ใช้ในการปราบปรามชนกลุ่มน้อยในจีน

ยิ่งไปกว่านั้น องค์กร Article 19 ระบุว่าจีนมีความเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศด้านดิจิทัลของกัมพูชาใน “ทุกรูปแบบ” อย่างกรณีของหัวเหว่ย ที่กำลังเผชิญกับการแบนในหมู่ชาติตะวันตกด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงไซเบอร์ กลับได้ผูกขาดระบบเก็บข้อมูลคลาวด์ในกัมพูชา

ระหว่างที่บริษัทจีนต่างยืนยันว่าจะไม่ส่งมอบข้อมูลส่วนบุคคลให้กับรัฐบาลปักกิ่ง ผู้เชี่ยวชาญต่างตั้งข้อสงสัยว่าบริษัทเหล่านี้จะทำได้แค่ไหน ภายใต้กฎหมายด้านความมั่นคงแห่งชาติของจีน

เกตเวย์อินเทอร์เน็ตแห่งชาติ

รัฐบาลกัมพูชาประกาศกฎเมื่อปี 2021 ในการสร้างเกตเวย์อินเทอร์เน็ตแห่งชาติ (National Internet Gateway) ซึ่งคล้ายกับระบบ Great Firewall ของจีน ในการปิดกั้นการเข้าถึงสื่อและสื่อสังคมออนไลน์ของชาติตะวันตกของชาวกัมพูชา

แคสเตอร์ มองว่า “นั่นคือสิ่งที่เราได้เห็นในการปรับใช้ Great Firewall แบบจีนในบางประเทศที่จีนมีอิทธิพล หรือให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาดิจิทัลมากที่สุด ซึ่งกรณีของกัมพูชานั้นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร”

รัฐบาลกัมพูชา กล่าวว่าเกตเวย์อินเทอร์เน็ตแห่งชาตินี้จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านความมั่นคงแห่งชาติ และช่วยต่อสู้กับการโกงภาษีและอาชญากรรมไซเบอร์ แต่ทางหน่วยงานไม่แสวงผลกำไรที่ดูแลด้านเสรีภาพอินเทอร์เน็ต Internet Society ที่มีสำนักงานในสหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่าสิ่งนี้จะเปิดทางให้รัฐบาลเข้าตรวจสอบการใช้และกิจกรรมบนโลกอินเทอร์เน็ตของประชาชน และเพื่อติดตามระบุตัวและสถานที่ของพวกเขาด้วย

เคียน เวสเทนสัน นักวิจัยอาวุโสด้านเทคโนโลยีและประชาธิปไตย จาก Freedom House กล่าวกับวีโอเอว่า “พรรคคอมมิวนิสต์จีนและบริษัทจีนที่ดำเนินกิจการสอดรับกับรัฐบาลปักกิ่งเป็นผู้ผลักดันการกระจายตัวของอินเทอร์เน็ต และเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ หมายถึงความพยายามในการแบ่งแยกอินเทอร์เน็ตในประเทศที่ตัดขาดจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั่วโลก”

แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนและการลงทุนจากจีน แต่เวสเทนสัน ชี้ว่ารัฐบาลกัมพูชายังไม่ได้บังคับใช้แผนการเกตเวย์อินเทอร์เน็ตแห่งชาติที่ว่านี้แต่อย่างใด และเสริมว่า “การสร้างโมเดลเผด็จการดิจิทัลแบบจีนเข้าไปในโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตในประเทศหนึ่งนั้นเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง มันต้องพึ่งพาศักยภาพด้านเทคนิค ความสามารถในระดับรัฐ และทุกสัญญาณมุ่งไปที่ความยากลำบากรัฐบาลกัมพูชาในการรับมือกับเรื่องเหล่านี้”

เวสเทนสัน แห่ง Internet Society กล่าวด้วยว่า ระหว่างที่แรงกดดันทางสังคมและการเมืองต่างประเทศมีบทบาทมากขึ้น ความกังวลของภาคธุรกิจก็มีบทบาทสำคัญในการกีดกันการแสดงความเห็นออนไลน์หรือการสอดแนมผู้ใช้ ซึ่งถือเป็นต้นทุนให้กับภาคเอกชน “รัฐบาลเหล่านี้พยายามจะเก็บเกี่ยวประโยชน์จากอีคอมเมิร์ซต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางกฎหมายที่เป็นอิสระจากข้อกำหนดในการเซนเซอร์หรือสอดแนม เพื่อให้ดึงดูดบริษัทให้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศ”

แคสเตอร์ จากองค์กร Article 19 กล่าวว่าหลายประเทศกังวลเกี่ยวกับโมเดลการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตแบบเผด็จการของจีนที่แผ่ขยายอิทธิพลไปนี้ว่าควรจะสนับสนุนการเชื่อมต่อและการพัฒนาอินเทอร์เน็ตทั่วโลกมากกว่าที่เป็นอยู่ และว่า “การสนับสนุน(ของจีน)ควรอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชนและหลักการด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น .. เพื่อป้องกันจีนในการใช้การพัฒนาอินเทอร์เน็ตที่จำเป็นโดยมิชอบ ในการวางบทบาทของบริการอินเทอร์เน็ตของตน – และบ่อยครั้งคือการเผยแพร่โมเดลเผด็จการ – ให้เป็นทางเลือกที่เข้าถึงได้มากที่สุด”

ที่ต้องจับตากันต่อคือการประชุมด้านอินเทอร์เน็ตประจำปี ที่กรุงปักกิ่ง ในวันที่ 9-11 กรกฎาคมนี้ ซึ่งสื่อ Xinhua รายงานว่าการประชุมในปีนี้จะหารือเรื่องปัญญาประดิษฐ์ รัฐบาลดิจิทัล นวัตกรรมด้านไอที ความปลอดภัยข้อมูล และความร่วมมือระหว่างประเทศด้านอินเทอร์เน็ต

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG