ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์: เหตุใดทิเบตจึงเงียบสงบ เมื่อจีนเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกครั้งนี้?


BEIJING-TÍBET
BEIJING-TÍBET

บรรยากาศของ ‘ปักกิ่ง เกมส์ 2022’ ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 2 ที่ทางการจีนเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกนั้นดูเป็นได้อย่างราบรื่น แตกต่างกับเมื่อ 14 ปีก่อนที่ชาวโลกได้เห็นภาพความไม่สงบควบคู่กับการแข่งขันโอลิมปิกในปี 2008 เนื่องจากในช่วงเวลานั้น ประชากร รวมทั้งพระจำนวนมากในเขตปกครองตนเองทิเบตได้ลุกขึ้นมาประท้วงและปะทะกับทางจีนเพื่อเรียกร้องเอกราชและสิทธิเสรีภาพทางศาสนา

นักวิเคราะห์และชาวทิเบตหลายคนได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพีว่า เหตุผลที่เขตปกครองตนเองนี้จึงแลดูสงบและไร้การประท้วงที่รุนแรงนั้น เป็นเพราะกลยุทธ์การสยบทิเบตให้ยอมรับอำนาจจีนนั้นใช้ได้ผลจริง และแรงผลักดันของนักรณรงค์ต่างๆ เพื่อเอกราชและสิทธิเสรีภาพของทิเบตจากจีนไม่ได้รับความสำคัญอีกแล้ว หลังรัฐบาลจีนใช้มาตรการเศรษฐกิจที่เข้มงวดปราบปรามพวกเขา

นอกจากนี้ การเข้าไปยังบริเวณทิเบตยังถูกปิดกั้นอยู่ โดยเห็นได้จากการนักข่าวของสำนักข่าวเอพีถูกสั่งให้ลงจากรถบัสที่ขับอยู่บนเส้นทางบริเวณรอยต่อของมณฑลเสฉวนกับเขตปกครองตนเองทิเบต จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ ณ วันนี้ นานาประเทศหันไปตำหนิจีนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวมุสลิมอุยกูร์ของที่มณฑลซินเจียงแทนที่จะพูดถึงทิเบต

Tibet and the Olympics
Tibet and the Olympics

ทั้งนี้ สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างทิเบตกับจีนในช่วงเวลาสิบกว่าปีก่อนรุนแรงในระดับที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คนจากการปะทะ ซ้ำพระหลายรูปยังร่วมประท้วงโดนการจุดไฟเผาตัวเองด้วย

เซแวง ดอนดูป ที่ทำหน้าเป็นอาสาสมัครที่อารามแห่งหนึ่งในทิเบตได้เล่าย้อนถึงความไม่สงบว่า เจ้าหน้าทางการจีนบุกเข้ามาทำร้ายแม่ชีในอารามของเขา ทุกคนจึงสู้กลับและถูกยิงด้วยกระสุนจริง

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ เซแวง ดอนดูปจำต้องลี้ภัยไปยังประเทศแคนาดา หลังจากหลบซ่อนตัวจากทางการจีนกว่าสองปี และเขาอธิบายถึงสาเหตุที่เข้าร่วมประท้วงในเวลานั้นว่า “ผมเข้าร่วมเพราะรู้สึกถึงความยากลำบากที่ครอบครัวของผมกำลังเผชิญ ผมไม่อยากให้ส่งผลสิ่งเหล่านี้ให้ลูกของผมในอนาคตต้องมาแบกรับในอนาคต”

สำนักข่าวเอพีรายงานต่อว่า เมื่อจากการแข่งขันโอลิมปิกในปี 2008 ที่จีนเป็นภาพสิ้นสุดลงไม่นาน รัฐบาลจีนได้เริ่มทำแคมเปญต่างๆ เพื่อควบคุมทิเบตอย่างเข้มงวด โดยหลายพื้นที่ในทิเบตอยู่ภายใต้การนโยบายต่อต้านความยากจน ซึ่งหมายถึงการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอันตระการตาด้วยเงินรัฐบาลจีน ตั้งแต่สนามบิน ทางด่วน โรงเรียน ไปจนถึงการให้สิทธิประกันสุขภาพจากรัฐแก่ชาวทิเบต

Tibet and the Olympics
Tibet and the Olympics

หลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนรัฐของทิเบตยังได้ถูกปรับให้มีความภาคภูมิใจและความเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนมากขึ้น และนักเรียนหลายคนเรียนภาษาจีนแทนภาษาท้องถิ่น ซึ่งการกระทำข้างต้นซื้อใจชาวทิเบตให้ชอบจีนได้ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีรายได้น้อยและอาศัยอยู่ในบริเวณต่างจังหวัด จึงส่งผลทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าขึ้นเพราะพวกเขาเปิดรับแนวคิดที่ต่างกัน

และเมื่อปี 2011 ผู้นำดาวรุ่งของพรรคคอมมิวนิสต์ เฉิน ควางโกว ที่เข้ามาดูแลการปกครองในทิเบตได้เริ่มใช้นโยบายควบคุมและสอดส่องประชากรที่เคร่งครัดมากขึ้น โดยมีการแบ่งพื้นที่ในทิเบตให้ตำรวจตตระเวนอย่างชัดเจนและมีการสร้างศูนย์ควบคุมตัวพระและแม่ชีที่ออกมาประท้วงหรือเรียกร้องสิทธิ์

Tibet and the Olympics
Tibet and the Olympics

โทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตที่เคยเป็นตัวช่วยสำคัญในการจัดการประท้วงก็ถูกจับตามองอย่างเข้มงวด ส่วนใครที่วิจารณ์หรือพูดถึงองค์ดาไลลามะซึ่งเป็นอดีตผู้นำด้านศาสนาของทิเบตก็อาจถูกเจ้าหน้าที่จีนเฝ้าดูเวลาไปไหนมาไหน หรือถูกควบคุมตัวให้อยู่ในบ้านแทน (house arrest)

ชาวทิเบตรายหนึ่ง ซึ่งไม่ขอเปิดเผยตัว บอกกับผู้สื่อข่าวเอพีว่า ตนเคยถูกสอบสวนเพราะส่งหนังสือที่ถูกสั่งห้ามเกี่ยวกับพุทธศาสนาแบบทิเบตผ่านแอพพลิเคชั่น WeChat เปิดเผยกับสำนักข่าวเอพีว่า “เรารู้สึกไม่มีความสุข แต่ก็ไม่กล้าที่จะพูดอะไร เราต้องการต่อสู้เพื่ออนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมของทิเบต แต่ทุกคนรู้สึกหวาดกลัวและไม่มีใครอยากจะเอาชีวิตไปแลก”

ทั้งนี้ แม้ทางการจีนจะมีจุดตรวจต่างๆและควบคุมชาวทิเบตอย่างเคร่งครัด แต่สำนักข่าวเอพีชี้ว่า ความเข้มงวดในการสยบความเป็นอัตลักษณ์ของชาวทิเบตยังน้อยกว่าชาวมุสลิมอุยกูร์ เพราะในทิเบต คนยังสามารถปฏิบัติและยึดถือแนวความเชื่อตามพุทธศาสนาของตนได้อยู่บ้าง แต่ในมณฑลซินเจียงที่ชาวอุยกูร์อยู่นั้นมัสยิดกลับว่างเปล่าเพราะผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามถูกควบคุมตัวในค่ายกักตัว

Tibet and the Olympics
Tibet and the Olympics

ล่าสุด โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน จ้าว ลี่เจี่ยน บอกกับนักข่าวก่อนการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่งถึงสถานการณ์ในทิเบตว่า “ประชากรในทิเบตยังคงใช้ชีวิตอย่างมีความสุข”

คุนชอค โดลมา ชาวทิเบตวัย 28 ปี ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองเฉิงตู และยังคงปฏิบัติตนเช่นพุทธศาสนิกชนที่ดี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพีด้วยภาษาจีนกลางที่ชัดเจนว่า “ฉันรู้สึกว่ายังเป็นชาวทิเบตที่แท้จริงเหมือนกับที่ฉันเป็นชาวจีน ฉันไม่มีความรู้สึกขัดแย้งระหว่างสองสิ่งนี้”

อย่างไรก็ตาม คุนชอค โดลมา ยอมรับว่า เธอไม่ค่อยชอบที่ชาวทิเบตไม่สามารถยื่นเรื่องของพาสปอร์ตได้ และการที่ประกาศรับสมัครงานมีการระบุห้ามไม่ให้ชาวทิเบตสมัคร รวมทั้งการที่ทางการจีนสั่งจำกัดการเดินทางไปยังเมืองลาซาด้วย แต่เมื่อเธอลองมองกลับไปที่อดีตแห่งความขัดแย้งระหว่างทิเบตกับทางการจีน เธอยอมรับได้ว่า นโยบายทางการเหล่านี้มีออกมาเพื่อความสงบเรียบร้อยของส่วนรวม

เธอกล่าวทิ้งท้ายว่า “เมื่อเราได้รับการปฏิบัติต่อไม่เหมือนกัน ฉันเข้าใจว่ามันไม่ค่อยยุติธรรม ... แต่ฉันเข้าใจว่าทำไมมันถึงต้องเป็นเช่นนั้น”

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG