ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จีนผุดแผนสร้างกองเรือสำรองด้วยการสั่งบริษัทเอกชนต่อเรือใหม่ตามข้อกำหนดเฉพาะของกองทัพจีน


China Sea
China Sea

นักวิเคราะห์เชื่อว่านโยบายล่าสุดของจีนอาจช่วยเพิ่มศักยภาพทางทะเลของจีน ในช่วงที่จีนกำลังเผชิญความขัดแย้งทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้าน

please wait

No media source currently available

0:00 0:03:56 0:00
Direct link

เมื่อต้นปีนี้ รายงานด้านข่าวกรองของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า จีนเพิ่งขยายศักยภาพกองเรือลาดตระเวณชายฝั่งให้มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วยการให้ประชาชนเข้าร่วม โดยใช้เรือซึ่งไม่ได้ติดอาวุธเหล่านั้นในการช่วยตรวจตราตามน่านน้ำต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ซึ่งนักวิเคราะห์เรียกกองเรือนี้ว่า “กองทัพเรือที่สองของจีน”

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สื่อมวลชนของทางการจีนรายงานว่า รัฐบาลจีนได้อนุมัติคำสั่งทางทหารชุดใหม่ที่กำหนดให้บริษัทต่อเรือของจีนต้องสร้างเรือตามแบบที่กองทัพเรือจีนระบุไว้โดยเฉพาะ เพื่อทำหน้าที่เป็นกองเรือสำรองที่พร้อมจะเข้าร่วมในกรณีที่เกิดสงคราม ขณะเดียวกันรัฐสภาจีนจะเริ่มการหารือกฏหมาย National Defense Transport Law ซึ่งจะช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทเอกชน ในการต่อเรือตามแบบของกองทัพเรือจีน รวมทั้งค้ำประกันในกรณีเกิดความเสียหายจากการร่วมปฏิบัติการทางทหาร

ประมาณว่าเมื่อปลายปีที่แล้ว จีนมีเรือของเอกชนทั้งหมดราว 172,000 ลำ ขณะที่กองทัพเรือจีนเองก็เพิ่มจำนวนเรือรบ เรือลาดตระเวณ และเรือดำน้ำอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้จีนยังได้ครอบครองเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกเมื่อไม่กี่ปีก่อน และในรายงานที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เปิดเผยไม่นานนี้ระบุว่า จีนอาจจะสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินอีกหลายลำในช่วง 10 ปีข้างหน้า

เชื่อว่าด้วยจำนวนเรือที่มากมายเช่นนี้ จะช่วยให้จีนสามารถผลักดันนโยบายขยายศักยภาพทางทะเลออกไปจากแนวชายฝั่งได้มากยิ่งขึ้น

คุณ James Nolt นักวิเคราะห์ของสถาบัน World Policy Institute เชื่อว่า คำสั่งล่าสุดของจีนเรื่องการเพิ่มศักยภาพของเรือเอกชนให้สอดคล้องกับกองทัพเรือจีนนั้น อาจเป็นการส่งสัญญาณไปยังประเทศเพื่อนบ้านว่า จีนถือเรื่องการอ้างสิทธิ์ของจีนในทะเลจีนใต้เป็นเรื่องใหญ่ และพร้อมสนับสนุนทางการทหารเพื่อยืนยันจุดยืนนี้

นักวิเคราะห์บอกว่า การสร้างสมกองเรือสำรองโดยใช้เรือของประชาชนเข้าร่วมเมื่อถึงคราวจำเป็นนั้น เป็นสิ่งที่หลายประเทศเคยนำมาใช้เพื่อประหยัดงบประมาณ ที่ผ่านมาสหรัฐฯ เคยใช้นโยบายนี้เมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และอังกฤษก็เคยใช้ในช่วงสงครามหมู่เกาะฟอล์คแลนด์

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าอ้างอิงจากรายงานของจีน เชื่อว่าแผนนี้ได้ถูกดัดแปลงมาจากกฏหมายทางทะเลของสหรัฐฯ ที่อนุญาตให้มีการอุดหนุนและค้ำประกันให้กับเรือของเอกชนที่ถูกนำมาใช้ควบสองหน้าที่เช่นในกรณีนี้ได้

คุณ Lin Chong-bin อดีตรอง รมต.ด้านกลาโหมของไต้หวันและนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงจีน เชื่อว่าคำสั่งใหม่นี้สะท้อนให้เห็นถึงนโยบายของ ปธน.Xi Jinping ที่ต้องการแสดงความเข้มแข็งในด้านการทหารและการต่างประเทศ เพื่อหวังผลให้เกิดความชื่นชมในประเทศ ในช่วงที่ผู้นำจีนกำลังพยายามผลักดันให้เกิดการปฏิรูปนโยบายภายในประเทศครั้งใหญ่

และเชื่อด้วยว่าท่าทีล่าสุดของปักกิ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ ปธน.Xi ในการแสดงจุดยืนที่เข้มแข็งของตนระหว่างการเยือนกรุงวอชิงตันในเดือน ก.ย นี้

ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงรายงานจากผู้สื่อข่าววีโอเอ Joyce Huang

XS
SM
MD
LG