ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จีนมุ่งขยายการค้าการลงทุนในยุโรป กระจายความเสี่ยงข้อขัดแย้งกับสหรัฐฯ


FILE - A screen displays live Chinese President Xi Jinping, top left, European Council President Charles Michel, top right, European Commission President Ursula von der Leyen, bottom right, French President Emmanuel Macron, bottom center, and German Chanc
FILE - A screen displays live Chinese President Xi Jinping, top left, European Council President Charles Michel, top right, European Commission President Ursula von der Leyen, bottom right, French President Emmanuel Macron, bottom center, and German Chanc
China - Europe
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:45 0:00

ในช่วงสัปดาห์กลางเดือนตุลาคม ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ของจีน หารือทางวิดีโอออนไลน์กับนายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี และชาร์ล มิเกล ประธานสภายุโรป โดยแสดงความสนใจที่จะเพิ่มความร่วมมือด้านการค้ารวมทั้งเพื่อแก้ปัญหาท้าทายต่าง ๆ ของโลกในปัจจุบัน ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นความพยายามของจีนที่จะขยายความสัมพันธ์กับยุโรปและลดความเสี่ยงจากข้อขัดแย้งด้านต่าง ๆ ที่มีอยู่กับสหรัฐฯ ขณะนี้

จีนมีข้อพิพาทด้านการค้ากับสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 2018 ในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยขณะนี้มียอดการค้ามูลค่าราว 5 แสน 5 หมื่นล้านดอลลาร์ที่ได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีที่สูงขึ้น นอกจากนั้นปักกิ่งกับวอชิงตันยังมีความขัดแย้งในเรื่องอื่น ๆ นับตั้งแต่การใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต เรื่องสิทธิมนุษยชน และประเด็นเกี่ยวกับทะเลจีนใต้กับไต้หวันด้วย

นักวิเคราะห์เชื่อว่าจีนกำลังหันไปขยายความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนกับยุโรปที่โดยปกติแล้วเป็นฐานที่มั่นสำหรับความเป็นพันธมิตรอย่างเหนียวแน่นของสหรัฐฯ เพื่อเป็นทางเลือกหรือเป็นนโยบายทดแทน โดยจีนหวังจะสร้างความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนกับประเทศในยุโรปแบบรายประเทศ ตามความเห็นของอาจารย์สตีเฟน นากี รองศาสตราจารย์ด้านการเมืองและการต่างประเทศของมหาวิทยาลัย International Christian University ที่กรุงโตเกียว

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มสหภาพยุโรปกับจีนในช่วงปีที่ผ่านมาก็ยังไม่ค่อยราบรื่นนัก โดยเฉพาะจากเรื่องการปฎิบัติของจีนต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ รวมทั้งเรื่องท่าทีที่จีนปักกิ่งมีต่อจีนไต้หวันด้วย

นอกจากนั้นในแง่การทหารเอง จีนก็ไม่พอใจจากการที่ฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษ ส่งเรือรบเข้าไปลาดตระเวนในทะเลจีนใต้เพื่อร่วมปฏิบัติการทางทะเลกับสหรัฐฯ

ถึงกระนั้นก็ตาม ในแง่เศรษฐกิจแล้ว จีนมีฐานะเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของสหภาพยุโรป โดยเป็นแหล่งที่มาของการลงทุนโดยตรงปีละหลายพันล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะในภาคพลังงาน และประเทศในยุโรปตอนกลางและยุโรปตะวันออกก็พร้อมจะรับการลงทุนจากจีนมากกว่าประเทศในยุโรปตะวันตกด้วย

ส่วนคุณชอน คิง ผู้บริหารของบริษัทที่ปรึกษา Park Startegies ในนครนิวยอร์ก ก็ให้ความเห็นว่า ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง มองกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปว่าเป็นเป้าหมายที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจได้ง่าย และจะพยายามขยายความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ว่าสถานะความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตันจะเป็นอย่างไรก็ตาม

เพราะนอกจากการหาพันธมิตรทางการเมืองแล้ว ปักกิ่งยังต้องการเข้าถึงตลาดเทคโนโลยี สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และสถาบันคลังสมองของยุโรปด้วย

และในการสนทนาทางระบบวิดีโอกับนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิงกล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนเรื่องการค้าและเชื่อว่าผลประโยชน์ร่วมระหว่างจีนกับสหภาพยุโรปนั้นมีมากกว่าความขัดแย้งที่มีอยู่ในปัจจุบัน

โดยสำนักข่าวซินหัวยังรายงานด้วยว่า ผู้นำจีนกล่าวย้ำว่าจีนกับสหภาพยุโรปเป็นพลังที่สำคัญของโลกซึ่งมีความรับผิดชอบร่วมกันในการกระชับความร่วมมือและทำงานเพื่อแก้ปัญหาท้าทายต่าง ๆ ของโลกในขณะนี้ด้วย

ประธานาธิบดีสียังเสนอต่อประธานสภายุโรปด้วยว่า ทั้งสองฝ่ายสามารถร่วมมือกันในเรื่องเทคโนโลยี และจีนจะขยายแผนงานหนึ่งแถบหนึ่งถนนมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ให้ครอบคลุมหลายประเทศในยุโรปด้วยเช่นกัน

แต่นอกจากความสนใจของจีนในเรื่องเทคโนโลยีและตลาดในยุโรปแล้ว จีนก็มีตลาดในประเทศซึ่งมีผู้บริโภคชนชั้นกลางพร้อมจะเปิดรับสินค้าจากยุโรป โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยจากฝรั่งเศสและอิตาลี และประเทศในยุโรปเองก็สนใจจะลงทุนในภาคพลังงานและในเรื่องพลังงานสะอาดในจีนด้วย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณเจมส์ เบิร์กลีย์ กรรมการผู้จัดการของบริษัทที่ปรึกษา Ellice Consulting ในกรุงลอนดอน มองว่า จีนมีนักลงทุนผู้มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับตลาดในต่างประเทศและพร้อมจะใช้เงินลงทุนดังกล่าวกับธุรกิจเพื่อเป็นฐานสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา

อย่างไรก็ตาม อาจารย์สตีเฟน นากี รองศาสตราจารย์ด้านการเมืองและการต่างประเทศของมหาวิทยาลัย International Christian University เตือนว่า ถึงแม้จีนอาจสามารถมุ่งลงทุนในบางประเทศของยุโรปตอนกลางและยุโรปตะวันออกเพื่อรุกเข้าไปในสหภาพยุโรปมากขึ้น แต่แนวปฏิบัติของจีนดังกล่าวก็อาจจะได้ผลคล้ายกับที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ จีนสามารถชนะใจประเทศเล็ก ๆ บางประเทศ เช่น กัมพูชากับลาวได้ แต่ก็ยังมีหลายประเทศ เช่น เวียดนามและฟิลิปปินส์ ซึ่งยังไม่ค่อยไว้วางใจจีนมากนัก

XS
SM
MD
LG