ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์: ความขัดแย้ง 'จีน-แคนาดา' จากกรณีจับกุมผู้บริหารหัวเหว่ย


This TV image provided by CTV to AFP shows Huawei Technologies Chief Financial Officer Meng Wanzhou as she exits the court registry following the bail hearing at British Columbia Superior Courts in Vancouver, British Columbia on December 11, 2018.
This TV image provided by CTV to AFP shows Huawei Technologies Chief Financial Officer Meng Wanzhou as she exits the court registry following the bail hearing at British Columbia Superior Courts in Vancouver, British Columbia on December 11, 2018.
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:05 0:00

นักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศ เชื่อว่า จีนจะเพิ่มแรงกดดันและการตอบโต้ต่อแคนาดาต่อไป หลังจากทางการแคนาดาจับกุมผู้บริหารระดับสูงของบริษัทโทรคมนาคมจีน Huawei เมื่อเดือนที่แล้ว

เมื่อวันจันทร์ ศาลในประเทศจีนตัดสินประหารชีวิตชายชาวแคนาดาผู้หนึ่ง คือนายโรเบิร์ต ลอยด์ สเคลเลนเบิร์ก (Robert Lloyd Schellenberg) ในข้อหาลักลอบขนยาเสพติดเข้ามาในจีน หลังจากที่คำตัดสินจำคุก 15 ปีก่อนหน้านี้ ถูกมองว่าเบาเกินไป

คำตัดสินครั้งล่าสุดนี้ยิ่งทำให้เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลจีนและแคนาดา หลังจากเมื่อเดือนที่แล้ว เจ้าหน้าที่จีนได้จับกุมชาวแคนาดาสองคน คือนายไมเคิล คอฟริก (Michael Kovrig) อดีตนักการทูตและที่ปรึกษาของบริษัทวิจัยข้อมูล International Crisis Group (ICG) และนายไมเคิล สเปเวอร์ (Michael Spavor) นักธุรกิจชาวแคนาดา โดยจีนระบุว่าชายทั้งสองคนตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าคุกคามความมั่นคงของจีน

ความตึงเครียดระหว่างจีนและแคนาดาเพิ่มขึ้นหลังจากที่ตำรวจแคนาดาจับกุม เมิ่ง ว่านโจว (Meng Wanzhou) ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการเงินบริษัทหัวเหว่ย (Huawei Technologies) ของจีน เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ตามคำขอของรัฐบาลอเมริกัน ในข้อหาละเมิดมาตรการลงโทษอิหร่าน สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลอเมริกันกล่าวหาว่า เธอปกปิดความเชื่อมโยงของหัวเหว่ย กับบริษัทฮ่องกงที่ชื่อ Skycom ที่ขายอุปกรณ์เทคโนโลยีอเมริกันให้กับอิหร่าน ซึ่งถือว่าเป็นความผิดเพราะสหรัฐฯ ใช้มาตรการลงโทษอิหร่านอยู่ในขณะนี้​

วิลลี แลม (Willy Lam) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจีน จาก Chinese University of Hong Kong ชี้ว่า จีนจะไม่หยุดตอบโต้แคนาดา เนื่องจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และรัฐบาลกรุงปักกิ่ง รู้สึกว่าเสียหน้าจากกรณีการจับกุมผู้บริหารของหัวเหว่ยดังกล่าว

การตอบโต้ของจีนครั้งนี้ คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นกับหลายประเทศที่มีความขัดแย้งกับจีน ที่บางครั้งลุกลามจนถึงขั้นยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศนั้น หรือส่งผลกระทบต่อพลเมืองของประเทศนั้นๆ ที่อาศัยอยู่ในจีน รวมทั้งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของจีนบนเวทีโลกด้วย

ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ที่จีนระงับการทำข้อตกลงการค้าและจำกัดการนำเข้าปลาแซลมอนจากนอร์เวย์ หลังจากที่มีการประกาศมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี ค.ศ. 2010 ให้กับนายหลิว เสี่ยวโป (Liu Xiaobo) นักโทษการเมืองชาวจีน และการจับกุมคู่สามีภรรยาชาวแคนาดาในประเทศจีน เมื่อปี ค.ศ. 2014 ในข้อหาจารกรรม หลังจากที่แคนาดาเพิ่งจับกุมชายผู้หนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าขโมยความลับด้านการบินของสหรัฐฯ ให้กับจีน

นั่นทำให้บรรดานักวิเคราะห์เชื่อว่า การจับกุมชาวแคนาดาสองรายครั้งล่าสุดนี้ เป็นการตอบโต้ของจีนที่มีต่อทางการแคนาดาอีกเช่นกัน

เดวิด ซวีก (David Zweig) ผอ.ศูนย์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของ Hong Kong University of Science and Technology เชื่อว่า การตอบโต้ครั้งล่าสุดของจีนจะยิ่งทำลายความน่าเชื่อถือของจีนในการขยายอำนาจอิทธิพลไปยังภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะอำนาจแบบอ่อน หรือ Soft Power และความพยายามแสดงให้โลกเห็นว่า จีนเล่นตามกติกา

นักวิเคราะห์ผู้นี้เชื่อว่า ในที่สุดแล้วจีนจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการตอบโต้แคนาดาครั้งนี้

ด้าน สตีฟ จาง (Steve Tsang) แห่ง London’s School of Oriental and African Studies ระบุว่า เมิ่ง ว่านโจว ลูกสาวของผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเหว่ย ซึ่งถูกทางการแคนาดาจับกุมนั้น มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับนายทหารในกองทัพจีน และมีสถานะเสมือนสมบัติแห่งชาติของจีน ดังนั้นจีนจะไม่หยุดกดดันแคนาดาให้ปล่อยตัวเธอออกมา แต่ตนไม่เชื่อว่าจะไม่มีผลต่อแคนาดาในการจัดการคดีนี้แต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน จากการสำรวจความเห็นของชาวจีนเกี่ยวกับกรณีนี้ ส่วนใหญ่เห็นว่าจีนและบริษัทหัวเหว่ยกำลังถูกรังแกทางการเมือง และเชื่อว่ารัฐบาลจีนทำถูกต้องแล้วที่พยายามแสดงจุดยืนต่อต้านแคนาดาในลักษณะตาต่อตา ฟันต่อฟัน

(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงรายงานจาก AP)

XS
SM
MD
LG