ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ฝูงแพะชิลีร่วมทีมนักผจญเพลิงกู้ไฟป่า


Victor Faundez walks next to his herd of goats nibbling on foliage in Santa Juana, Chile, May 11, 2023.
Victor Faundez walks next to his herd of goats nibbling on foliage in Santa Juana, Chile, May 11, 2023.

ชิลีหันมาพึ่งพาสัตว์อย่างแพะ เพื่อช่วยรับมือกับปัญหาไฟป่าในท้องถิ่น และเป็นแนวทางที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง

ที่เมืองซานตาฮัวนาทางตอนใต้ของชิลี ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากไฟป่าเมื่อต้นปีนี้ ชาวเมืองมีหน่วยเฉพาะกิจเพื่อช่วยต่อสู้กับไฟป่า ซึ่งก็คือฝูงแพะนั่นเอง

ฝูงแพะเหล่านี้ได้ช่วยชีวิตป่าพื้นเมืองของ โบสเกส เด ชาเค (Bosques de Chacay) ไปแล้วครั้งหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ โดยพวกมันช่วยป้องกันไม่ให้ป่าแห่งนี้ถูกไฟป่าเผาผลาญ ซึ่งไฟป่าดังกล่าวมีต้นตอมาจากคลื่นความร้อนและความแห้งแล้งที่ทวีความรุนแรง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน บาดเจ็บอีกหลายพันคน และพื้นที่เกือบ 440,000 เฮกตาร์ หรือ 2,750,000 ไร่ถูกทำลาย

โรซิโอ ครูเซส (Rocio Cruces) ผู้ร่วมก่อตั้งอุทยานที่มีขนาดขนาด 16 เฮกตาร์ หรือราว 100 ไร่ และ บูเอนา คาบรา (Buena Cabra) โครงการที่ใช้แพะในการสร้างแนวกันไฟกล่าวว่า พื้นที่ป่าถูกล้อมรอบด้วยไฟ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นจุดสีเขียวเพียงแห่งเดียวที่หลงเหลืออยู่

เทคนิคดังกล่าวนี้ถูกใช้ในโปรตุเกสและสเปนเช่นกัน โดยจะมีการเลี้ยงแพะเพื่อควบคุมทุ่งหญ้าแห้งและพืชอื่น ๆ ที่เป็นเชื้อเพลิงให้เกิดไฟป่าในฤดูร้อน นอกจากนี้มูลแพะยังช่วยให้ดินสมบูรณ์และป้องกันการพังทลายของหน้าดินอีกด้วย

ครูเซสกล่าวต่อไปว่า “ไฟลุกลามมาถึงอุทยานของเรา แต่มีเพียงต้นไม้แถวแรกเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ ซึ่งมีอัตราส่วนน้อยกว่า 10% ของพื้นที่อุทยาน” และว่ามีเปลวไฟเล็ก ๆ เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้ลุกลามออกไปเนื่องจากมีแพะช่วยกำจัดเชื้อไฟ

ครูเซส เริ่มโครงการฝูงแพะดับเพลิงนี้หลังจากเกิดไฟป่าร้ายแรงในปี 2017 ฝูงแพะของเธอเพิ่มขึ้นจากแพะ 16 ตัวเป็น 150 ตัว และเธอหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น ๆ ทำตามอย่างอีกด้วย

ฟรานซิสโก ดิ นาโปลี (Francisco Di Naoli) วิศวกรป่าไม้จากมหาวิทยาลัย Concepcion ในชิลี ผู้คุ้นเคยกับเทคนิคที่เรียกว่า strategic grazing ซึ่งเป็นการกำหนดพื้นที่การเล็มทุ่งหญ้าของสัตว์อย่างมีกลยุทธ์ กล่าวว่าประเทศชิลีประสบความล้มเหลวในการป้องกันอัคคีภัย และว่าฝูงแพะสามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างมาก

วิศวกรรายนี้เสริมว่า องค์กรอื่น ๆ ควรประเมินว่าจะสามารถนำวิธีการนี้ไปใช้ได้อย่างไรบ้าง โดยให้ลองค้นหาว่าทุ่งหน้าที่เสี่ยงในการเป็นเชื้อไฟและส่งทีมแพะเข้าไปจัดการเคลียร์พื้นที่ด้วยวิถีธรรมชาติ

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG