ประธานธนาคารโลก จิม ยัง คิม (Jim Yong Kim) กล่าวว่า ความวุ่นวายทางสังคมจะแพร่ระบาดหากงานพัฒนาไม่เน้นรองรับความจำเป็นพื้นฐานของคน เเละหากงานพัฒนาไม่นำแเนวทางการทำงานแบบการทำธุรกิจไปใช้
คำวิจารณ์นี้มีขึ้นในห้วงที่จีนมีบทบาทมากขึ้นในด้านการพัฒนาระดับนานาชาติ เเละในช่วงที่ธนาคารโลกกำลังเตรียมจัดอันดับประเทศต่างๆในด้านการลงทุนเพื่อพัฒนามนุษย์
1 ใน 10 คนทั่วโลกประสบความยากจนเเบบสุดขั้ว ซึ่งธนาคารโลกชี้ว่าคนกลุ่มนี้มีรายได้ที่ต่ำว่า 1 ดอลล่าร์ 90 เซ็นต์ หรือไม่ถึง 60 บาทต่อวันเเละมีเด็กเกือบ 6 ล้านคนที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบเสียชีวิตทุกปี ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากโรคที่ป้องกันได้ อาทิ ปอดบวม ท้องร่วงรุนแรงเเละมาลาเรีย
ประธานธนาคารโลกกล่าวว่า ภาวะขาดอาหาร ภาวะเเคระเเกร็น เเละความบกพร่องทางสติปัญญา กระทบต่อเด็กมากกว่า 150 ล้านคนทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศทางใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า เเละในเอเชียใต้ ส่งผลให้ประชาชนขาดการเตรียมตัวรับมือกับเศรษฐกิจแห่งอนาคตที่พึ่งพาระบบคอมพิวเตอร์
และในแอฟกานิสถาน กึ่งหนึ่งของประชากรเด็กเล็กทั้งหมดของประเทศเเคระเเกร็น และอินโดนีเซียมีปัญหาเดียวกันนี้โดยคิดเป็นเด็ก 1 คนในทุก 3 คน
นายคิม กล่าวว่า ปัญหานี้ค่อยๆ ดีขึ้น เเต่ยังไม่ดีขึ้นเร็วอย่างที่ควร มีคนจำนวนมากที่ไม่ได้รับการศึกษาเพียงพอเเละไม่มีความสามารถด้านการเเข่งขันในเศรษฐกิจแห่งอนาคต จึงเป็นเหตุให้หลายประเทศตกอยู่ในสภาพที่อ่อนเเอ มีปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรงเเละแนวคิดสุดโต่ง ตลอดจนการอพยพย้ายถิ่น
คิมกล่าวว่า ต้องเปลี่ยนความคิดของคน ผู้นำประเทศ เเละรัฐมนตรีการคลังของประเทศต่างๆ มักเน้นการลงทุนพัฒนาถนน ทางรถไฟและสวนอุตสาหกรรม เเต่ละเลยข้อมูลที่ชี้ถึงความเกี่ยวโยงระหว่างสุขภาพ การศึกษาเเละความสามารถด้านการผลิต
ขณะนี้ ธนาคารโลกวางแผนที่จะเปิดเผยผลการจัดอันดับประเทศต่างๆตามระดับการศึกษาเเละสุขภาพ ในรายงาน Human Capital Index ชิ้นแรกในเดือนตุลาคม ซึ่งนายคิมกล่าวว่า รายงานนี้จะทำให้หลายประเทศเกิดความละอาย เเละกระตุ้นให้ผู้นำของประเทศให้ความสำคัญแก่การลงทุนทางสังคม
เมื่อปีที่แล้ว ธนาคารโลกเองได้ออกเงินกู้ยืมมูลค่าเกือบ 60,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ให้แก่โครงการต่างๆ ทั่วโลก ตั้งเเต่ระบบสาธารณูปโภคด้านการคมนาคมขนส่งเเละพลังงาน ไปจนถึงการสร้างที่พักพิงเเก่ผู้อพยพและความจำเป็นพื้นฐานด้านสุขภาพและการศึกษา
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)