ลิ้งค์เชื่อมต่อ

มูลนิธิในแอลเอสอน 'ผู้ป่วยมะเร็งเด็ก' ถ่ายภาพนิ่งเพื่อช่วยเยียวยาจิตใจ


Madeline Morales taking pictures with the Pablove Shutterbugs program.
Madeline Morales taking pictures with the Pablove Shutterbugs program.

เเมดเดลลิน โมราลลีส (Madeline Morales) นักเรียนการถ่ายภาพคนหนึ่งในโครงการของมูลนิธิพับเลิฟ (Pablove) มีประสบการณ์ที่เด็กวัยรุ่นวัย 15 ปีทั่วไปไม่มี เธอเข้ารับการบำบัดมะเร็งด้วยเคมีบำบัดเเละรังสีบำบัด

แต่ในวันนี้เป็นวันที่เธอตื่นเต้นเพราะเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ เพราะในงานแสดงภาพถ่ายที่ลอสเองเจลลีส มีผลงานฝีมือของเธอร่วมจัดแสดงด้วย โดยภาพถ่ายเหล่านี้สะท้อนถึงเส้นทางการต่อสู้กับโรคมะเร็งของตัวเธอเอง

เธอกล่าวว่า ตนเองพยายามมองหาสิ่งรอบตัวที่มองดูเเล้วสร้างความรู้สึกทางบวก สร้างความสุข เธอคิดว่าการถ่ายภาพนิ่งเเละความเชื่อมั่นในพระเจ้าช่วยให้ตนเองมองโลกในเเง่บวก เเละมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับโรคมะเร็งต่อไป

โมราลลีสเป็นหนึ่งในนักเรียน 23 คนที่ร่วมเบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวกับโรคมะเร็ง ผ่านภาพถ่ายที่นำมาร่วมเเสดงในงาน และเจ้าของผลงานภาพถ่ายวัยเยาว์เหล่านี้จบการอบรมด้านวิชาการถ่ายภาพชั้นสูงชัตเตอร์บัคส์ (Shutterbugs) ของมูลนิธิพับเลิฟ

เอชลี่ย์ เบล็คเคนลี่ย์ (Ashley Blakenley) กล่าวว่า การที่ผู้ป่วยมะเร็งเด็กได้เข้าอบรมร่วมกับคนที่มีประสบการณ์เดียวกัน ช่วยได้สร้างความรู้สึกเป็นชุมชนเดียวกัน ซึ่งมีผลดีอย่างมากต่อจิตใจของเด็กเหล่านี้

โครงการอบรมการถ่ายภาพนิ่งของมูลนิธิพับเลิฟ สอนการถ่ายภาพนิ่งแก่เด็กที่เป็นมะเร็งใน 8 เมืองทั่วสหรัฐฯ และรายได้จากการขายภาพถ่ายเหล่านี้จะบริจาคเข้ากองทุนสนับสนุนการวิจัยมะเร็งในเด็กหลายกองทุน

บายู ลุคมัน (Bayu Lukman) หนึ่งในนักเรียนวิชาถ่ายภาพนิ่งบอกว่าตนเองถ่ายภาพผีเสื้อซึ่งนำมาเเสดงในงานนี้ เพราะตนเองมองว่าการโบยบินของผีเสื้อเป็นสัญลักษณ์ของความรู้สึกทางบวก

ลุคมัน เป็นมะเร็งตอนอายุ 10 ปี และความรู้สึกทางบวกมีความสำคัญในการต่อสู้กับโรคมะเร็งกับผลข้างเคียงจากเคมีบำบัดเเละรังสีบำบัด เขาบอกว่า โรคมะเร็งกับการบำบัดทำให้รู้สึกซึมเศร้าเเละไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป แต่ตนเองต้องพยายามมองโลกในเเง่บวกเเละกัดฟันต่อสู้กับมะเร็งต่อไป

ผู้สื่อข่าววีโอเอที่นครลอสเองเจลลีส รายงานว่า การถ่ายภาพนิ่งช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งเด็กรักษาความเป็นตัวของตัวเองไว้ เพราะเป็นสิ่งเดียวที่อยู่เหนืออิทธิพลของโรคมะเร็ง

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG