ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทีมนักวิจัยอังกฤษทดสอบ 'เครื่องวิเคราะห์ลมหายใจ' ตรวจหามะเร็ง


cancer cells
cancer cells

เครื่องวิเคราะห์ลมหายใจออกแบบให้ตรวจหามะเร็งได้หลายชนิดกำลังทดลองกับคนในอังกฤษ

please wait

No media source currently available

0:00 0:03:50 0:00

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า โรคหลายๆ โรคสร้างกลิ่นกายเฉพาะตัวที่ออกมาจากร่างกายของผู้ป่วย อาทิ ไข้รากสาดน้อยที่ทำให้ผู้ป่วยมีกลิ่นตัวเหมือนขนมปังอบ กับกลิ่นของสารเเอซิโทนที่ใช้ในน้ำยาล้างเล็บ เช่นเดียวกับกลิ่นแอปเปิ้ลเน่าที่เกิดจากโรคเบาหวาน

ผลการวิจัยชิ้นล่าสุดยังพบว่า ลมหายใจของคนเราอาจช่วยบอกได้ด้วยว่ากำลังเป็นโรคมะเร็ง

และเพื่อทดสอบสมมุติฐานนี้ ศูนย์การวิจัยมะเร็งแห่งสหราชอณาจักร (Cancer Research UK) ได้เริ่มต้นการทดสอบเครื่องวิเคราะห์ลมหายใจตรวจมะเร็งที่เรียกว่า the Breath Biopsy กับคนเป็นเวลานาน 2 ปี เพื่อตรวจหาโมเลกุลที่ออกมากับลมหายใจ ซึ่งใช้ในการตรวจหามะเร็ง

ในกระบวนการเผาผลาญพลังงานของร่างกายที่ทำงานเป็นปกติ ร่างกายจะผลิตโมเลกุลที่ออกมากับละอองลมหายใจที่เรียกว่า VOC (volatile organic compounds) และผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามะเร็งจะสร้างโมเลกุล VOC เช่นกัน แต่มีลักษณะเเตกต่างออกไปจากร่างกายคนปกติ ซึ่งนักวิจัยหวังว่าเครื่องวิเคราะห์ลมหายใจจะช่วยแยกความแตกต่างนี้ได้

Billy Boyle ผู้ร่วมก่อตั้งเเละซีอีโอของบริษัท Owlstone Medical ที่คิดค้นเเละพัฒนาเครื่องวิเคราะห์ลมหายใจนี้ กล่าวกับ CNN ว่าเป้าหมายของการทดลองนี้คือการค้นหาความเเตกต่างระหว่างโมเลกุล VOC ปกติกับชนิดที่ไม่ปกตินี้ให้ได้

การทดลองกับคนนี้ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยมะเร็งแห่งสหราชอณาจักรในเมืองเเคมบริดจ์ (Cancer Research UK Cambridge Centre) และกำลังรับสมัครอาสาสมัครจำนวน 1,500 คน รวมทั้งคนที่มีสุขภาพเเข็งเเรงดีเพื่อเป็นกลุ่มควบคุม

ทีมนักวิจัยวางเเผนที่จะเริ่มต้นการทดลองกับกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารเเละมะเร็งหลอดอาหารเป็นกลุ่มเเรก ตามมาด้วยกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งตับเเละตับอ่อน

ผู้เข้าร่วมในการทดลองจะต้องเป่าลมหายใจออกเข้าไปในเครื่องวิเคราะห์ลมหายใจนาน 10 นาที เพื่อให้ได้ตัวอย่างโมเลกุลที่อยู่ในละอองลมหายใจ ซึ่งจะถูกนำไปวิเคราะห์โดยทีมนักวิจัยในห้องทดลองของบริษัท Owlstone Medical ในเมืองเเคมบริดจ์

ทีมงานมุ่งหาทางระบุให้ได้ว่า โรคมะเร็งมีกลิ่นหรือโมเลกุลในละอองลมหายใจที่แตกต่างไปอย่างไร เเละสามารถค้นพบมะเร็งได้ในระยะเริ่มเเรกได้เร็วแค่ใหน และหากผู้ป่วยจะกลายเป็นมะเร็งจริงๆ ตัวอย่างลมหายใจของผู้ป่วยจะใช้เปรียบเทียบกับตัวอย่างจากคนที่ไม่เป็นมะเร็งได้หรือไม่

ศาสตราจารย์ Rebecca Fitzgerald หัวหน้าทีมนักวิจัยที่ศูนย์วิจัยมะเร็งแห่งอังกฤษ ที่เมืองเเคมบริดจ์ กล่าวในแถลงการณ์ว่า จำเป็นอย่างมากที่ต้องเร่งพัฒนาอุปกรณ์ใหม่ๆ อย่างเช่น เครื่องวิเคราะห์ลมหายใจนี้ ซึ่งช่วยตรวจหาเเละวินิจฉัยมะเร็งได้ตั้งเเต่เนิ่นๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิต

ศูนย์วิจัยมะเร็งแห่งอังกฤษชี้ว่า มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่มากกว่า 360,000 คนทุกปีในอังกฤษ และองค์การอนามัยโลกหรือ WHO รายงานว่า ในระดับโลก มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ราว 18 ล้าน 1 เเสนคนในปีที่ผ่านมา

หากการทดลองกับคนครั้งนี้ได้ผลสำเร็จ ทั้้งบริษัท Owlstone Medical เเละศูนย์วิจัยมะเร็งหวังว่า แพทย์จะสามารถนำเครื่องวิเคราะห์ลมหายใจเครื่องนี้ไปใช้ในการตรวจร่างกายผู้ป่วย เพื่อช่วยในการตัดสินใจว่าควรเเนะนำให้เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเพิ่มเติมหรือไม่

ศาสตราจารย์ Fitzgerald กล่าวว่า ทีมงานหวังว่าการทดลองครั้งนี้จะช่วยให้ค้นพบสัญญาณของโรคมะเร็งได้ตั้งเเต่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากในการพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจมะเร็งโดยใช้ลมหายใจ

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG