ลิ้งค์เชื่อมต่อ

UN ทุ่มงบ 1.4 พันล้านเหรียญฯ ให้พม่าปราบยาเสพติดและอาชญากรรมข้ามชาติ


please wait

No media source currently available

0:00 0:05:01 0:00
Direct link

สหประชาชาติทุ่มงบ 1.4 พันล้านให้ทางการพม่าใช้ปราบปรามขบวนการยาเสพติดและอาชญากรรมข้ามชาติให้มีประสิทธิภาพ ขณะที่นักสิทธิมนุษชนขานรับโครงการดังกล่าวแต่ชี้ว่าต้องใช้งบประมาณส่วนนี้จัดการไปถึงผู้มีอิทธิพลเหนือกฏหมายและกลุ่มเครือข่ายอาชญากรรมที่ยังลอยนวลเพียงเพราะสนิทสนมกับนักการเมืองและผู้นำกองทัพที่มีอำนาจ

สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC จัดตั้งโครงการใหม่ด้วยงบประมาณ 45 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ ราวๆ 1,400 ล้านบาทภายในระยะเวลา 4 ปี เพื่อสนับสนุนให้ทางการพม่านำไปใช้จัดการกับกลุ่มอาชญากรรมในพม่า ที่คอยบั่นทอนการพัฒนาประเทศ สร้างความไม่มั่นคงในการดำเนินชีวิของผู้คน และคุกคามการเจรจาสันติภาพระหว่างชนกลุ่มน้อยต่างๆ

คุณ Jeremy Douglas ผู้แทน UNODC ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิค ระบุว่ากลุ่มธุรกิจมืดหรือกลุ่มใต้ดินเหล่านี้ มีเงินหมุนเวียนนับหลายล้านดอลล่าห์สหรัฐ และใช้ฟอกเงินใช้จ่ายในวงจรธุรกิจหลายพื้นที่และคุกคามสังคมโดยรวมอย่างกว้างขวาง

ผู้แทนสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ บอกว่า กลุ่มธุรกิจมืดทางตอนเหนือของพม่าเป็นกลุ่มที่ใหญ่มาก ส่วนใหญ่ขับเคลื่อนในขบวนการค้ายาเสพติด ขณะเดียวกันก็เป็นต้นทางของการค้ามนุษย์จำนวนมาก รวมไปถึงอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งล้วนทำรายได้ผิดกฏหมายอย่างมหาศาล ขณะเดียวกันเงินเหล่านั้นก็จะพยายามส่งเข้ามาหมุนเวียนในตลาดเพื่อฟอกเงินซึ่งส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมาก

Debbie Stothard นักสิทธิมนุษยชนในพม่า กล่าวเตือนว่า ที่ผ่านมาธุรกิจการค้าฝิ่นและยาเสพติดเคยสร้างความมั่งคั่งและอิทธิพลให้หลายคนก้าวขึ้นมามีตำแหน่งทางการเมืองรวมไปถึงผู้มีตำแหน่งในรัฐสภามาแล้ว และการเพิ่มอำนาจให้บุคคลเหล่านั้นอาจส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของพม่าได้

นักสิทธิมนุษยชนในพม่า กล่าวเพิ่มเติมว่า พรรคพวกของผู้ที่ถูกขึ้นบัญชีดำหลายคนล้วนได้รับการสนับสนุนจากนักธุรกิจข้ามชาติและร่ำรวยขึ้นอย่างมาก ซึ่งล้วนเป็นเพราะการคอรัปชั่นและการเชื่อมโยงกับกลุ่มเครือข่ายอาชญากรรม ขณะเดียวกันที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้อยู่เบื้องหลังอาชญากรรมหลายคนล้วนได้รับความเคารพนับถือจากรัฐบาลที่มาจากการปฏิรูปชุดปัจจุบันทั้งสิ้น

ขณะเดียวกัน ยืนยันต่อไปว่า ผู้ที่ใกล้ชิดกับเครือข่ายค้ายาเสพติดในพม่าหลายคนได้รับการเลือกตั้งเข้าในสภาในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี พุทธศักราช 2553 นอกจากนี้เธอยังมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างการได้รับเลือกตั้งของบุคคลเหล่านี้กับอัตราที่เพิ่มขึ้นของผลผลิตยาเสพติดซึ่ง UNODC รายงานว่ามีผลผลิตฝิ่นเพิ่มมากขึ้นในปี 2556 ที่ผ่านมาถึงร้อยละ 26 หรือประมาณ 870 ตัน

Phil Robertson ผู้ช่วยผู้อำนวยการ Human Right Watch เอเชีย กล่าวว่า มีข้อมูลการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มธุรกิจมืดหรือกลุ่มอาชญากรทางเศรษฐกิจ กับจำนวนผู้จะไม่ได้รับการโทษ ซึ่งหากพวกเขามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดหรือเป็นพวกพ้องกับรัฐมนตรีของพม่า รวมไปถึงผู้บัญชาการในกองทัพที่มีอำนาจแล้ว พวกเขาก็จะอยู่ในข่ายที่ลอยนวลได้ต่อไปโดยไม่ต้องได้รับการลงโทษ

การเติบโตของเศรษฐกิจพม่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาล้วนมีผลมาจากแรงขับเคลื่อนจากการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมือง แต่ขณะเดียวกันพม่าก็ยังคงเผชิญกับการคอรัปชั่นที่คอยฉุดรั้งการพัฒนา ซึ่งองค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ หรือ transparency international จัดอันดับให้พม่าอยู่ในกลุ่มท้ายสุดในเรื่องของความโปร่งใส คืออันดับที่ 157 จาก 177 ประเทศ

โครงการของสหประชาชาติที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐในครั้งนี้ นอกจากคาดหวังว่าจะสามารถนำไปพัฒนาศักยภาพการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ การปราบปรามยาเสพติดการค้ามนุษย์ อาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงตามแนวชายแดนแล้ว ยังมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาการปลูกฝิ่นในรัฐฉาน ซึ่งพม่าถือเป็นประเทศที่มีการปลูกฝิ่นมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นอันดับสองรองจากแอฟกานิสถาน

เกี่ยวข้อง

XS
SM
MD
LG