ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อังกฤษผลักดันจัดตั้ง 'เขตหยุดยิงเพื่อฉีดวัคซีนโควิด-19' ในพื้นที่สงคราม


A security man wearing a protective mask stands on a street during a 24-hour curfew amid concerns about the spread of the coronavirus disease (COVID-19), in Sanaa, Yemen May 6, 2020.
A security man wearing a protective mask stands on a street during a 24-hour curfew amid concerns about the spread of the coronavirus disease (COVID-19), in Sanaa, Yemen May 6, 2020.

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ โดมินิค ร้าบ (Dominic Raab) กล่าวว่า อังกฤษจะเสนอให้คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติมีมติให้จัดตั้งเขตหยุดยิงพิเศษในพื้นที่ความขัดแย้งต่าง ๆ เพื่อให้สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนหลายล้านคนในพื้นที่เหล่านั้น

แถลงการณ์จากสำนักงานรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ระบุว่า อังกฤษจำเป็นต้องทำหน้าที่เพื่อมนุษยธรรม และเป็นความจำเป็นเชิงยุทธศาสตร์ในการร่วมมือเพื่อเอาชนะโคโรนาไวรัส

ที่ผ่านมา สหประชาชาติผลักดันให้มีการเข้าถึงวัคซีนโควิดอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง โดยเน้นย้ำว่าจะไม่มีประเทศใดปลอดภัยหากยังไม่สามารถกระจายวัคซีนไปทั่วทุกมุมโลกได้ เพราะอาจหมายถึงการเกิดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์จนดื้อต่อวัคซีนที่มีอยู่

จนถึงขณะนี้ มีมากกว่า 160 ประเทศที่ยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนโควิดเนื่องจากความไร้เสถียรภาพและความขัดแย้งต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น เยเมน ซีเรีย ซูดานใต้ และเอธิโอเปีย

อังกฤษเชื่อว่าการเจรจาให้มีการหยุดยิงชั่วคราวเป็นกรณีไปเมื่อมีวัคซีนเพียงพอสำหรับแจกจ่ายในประเทศเหล่านั้น จะช่วยอำนวยความปลอดภัยให้กับบรรดาเจ้าหน้าที่ขนส่งความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขเหล่านั้นได้ เช่นเดียวกับที่เคยทำสำเร็จมาแล้วกับโครงการฉีดวัคซีนโปลิโอให้กับเด็ก ๆ ในอัฟกานิสถานเกือบหกล้านคน

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของรัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษครั้งนี้อาจเผชิญอุปสรรคเช่นเดียวกับโครงการลักษณะเดียวกันของสหประชาชาติเคยประสบมาแล้วเมื่อเดือนมีนาคมปีก่อน ซึ่งขณะนั้นเลขาธิการใหญ่สหระชาชาติ อันโตนิโอ กูเทอเรซ ต้องการให้มีการหยุดยิงในพื้นที่ความขัดแย้งต่าง ๆ ทันทีเพื่อควบคุมการระบาด แต่กลับต้องล่าช้าไปถึงสามเดือนเนื่องจากความตึงเครียดระหว่างจีนกับรัฐบาลสหรัฐฯ ของโดนัลด์ ทรัมป์

ถึงกระนั้น การประชุมระดับสูงของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติในวันพุธนี้ จะเป็นเวทีประชุมระดับโลกครั้งแรกของรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ที่มีนโยบายแตกต่างออกไป

XS
SM
MD
LG