งานวิจัยเรื่องส้อมเล็กส้อมใหญ่นี้ ทำขึ้นในภัตตาคารอาหารอิตาลีแห่งหนึ่งในสหรัฐ โดยนักวิจัยแบ่งส้อมที่ใช้รับประทานอาหารออกเป็น 2 ชุด ต้องบอกไว้ก่อนว่า คนอเมริกันใช้ส้อมในการตักอาหารรับประทาน ไม่ได้ใช้ช้อนเหมือนที่เมืองไทย งานวิจัยครั้งนี้ จึงใช้ส้อมในการทดสอบ แทนที่จะใช้ช้อน โดยส้อม 2 คันที่ใช้ทดสอบนี้ อันหนึ่งตักอาหารได้มากกว่าส้อมปกติ 20 เปอร์เซนต์ อีกอันหนึ่งตักอาหารได้น้อยกว่าส้อมปกติ 20 เปอร์เซนต์
นักวิจัยทดสอบ โดยให้ลูกค้าของภัตตาคารซึ่งไม้รู้ตัวว่าเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัย ใช้ส้อมขนาดต่างกันในแต่ละโต๊ะ เมื่อลูกค้าสั่งอาหารแล้ว นักวิจัยนำอาหารนั้นมาชั่งน้ำหนักก่อนเสิร์ฟให้ลูกค้า และนำกลับมาชั่งน้ำหนักอีกครั้ง เมื่อลูกค้าแต่ละโต๊ะทานเสร็จแล้ว พบว่าโต๊ะที่ใช้ช้อนส้อมอันใหญ่นั้นมีอาหารเหลือในจาน มากกว่าโต๊ะที่ใช้ส้อมอันเล็ก หรือทานอาหารน้อยกว่านั่นเอง
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยชุดเดียวกันนี้พบว่า การทดสอบขนาดส้อม กับปริมาณที่รับประทานอาหารนี้ ใช้ได้ผลในเฉพาะร้านอาหารเท่านั้น แต่เมื่อใช้การทดสอบแบบเดียวกันนี้ในห้องทดลอง พบว่าผลลัพธ์ที่ได้แตกต่างกันหน้ามือเป็นหลังมือ คือผู้ที่ใช้ช้อนส้อมอันใหญ่ กลับทานอาหารมากกว่า เมื่อทดสอบในห้องทดลอง
นักวิจัยสรุปว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะแรงจูงใจในการรับประทานอาหารในห้องทดลอง กับร้านอาหารนั้นแตกต่างกัน เพราะลูกค้าที่เดินเข้ามาในร้านอาหารนั้น มีจุดประสงค์จะทานให้อิ่มจุใจ หายหิว จึงพยายามสนองความต้องการนั้นให้มากที่สุด เมื่อเห็นส้อมอันเล็กก็คิดว่าจะทานไม่อิ่ม จึงต้องทานมากกว่าปกติ แต่ในห้องทดลองนี้ กลุ่มตัวอย่างรู้ตัวดีว่า กำลังอยู่ระหว่างการวิจัย จึงไม่ทานอย่างเต็มที่เหมือนอยู่ในภัตตาคาร โดยไม่เกี่ยวกับรสชาดอาหารแต่อย่างใด