ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ไบเดนเป็นเจ้าภาพเจรจาผู้นำญี่ปุ่น-ฟิลิปปินส์ ถกประเด็นจีน


ภาพของปธน.เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ แห่งฟิลิปปินส์ (ซ้าย) เมื่อ 29 ก.พ. 2567 และปธน.โจ ไบเดน เมื่อ 9 มี.ค. 2567 และนายกฯ ฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่น เมื่อ 28 มี.ค. 2567
ภาพของปธน.เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ แห่งฟิลิปปินส์ (ซ้าย) เมื่อ 29 ก.พ. 2567 และปธน.โจ ไบเดน เมื่อ 9 มี.ค. 2567 และนายกฯ ฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่น เมื่อ 28 มี.ค. 2567

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน เป็นเจ้าภาพการหารือกับผู้นำญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ ที่ทำเนียบขาวในวันพฤหัสบดี โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะส่งสัญญาณไปยังจีนให้ยุติพฤติกรรมก้าวร้าวต่อประเทศเพื่อนบ้านในทะเลจีนใต้

ไบเดน พร้อมด้วยนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่นและประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ แห่งฟิลิปปินส์ หารือกันท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัฐบาลมะนิลาและปักกิ่ง

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเรือตรวจการณ์จีนดำเนินการยั่วยุ โดยเข้าขวางการทำงานเติมสเบียงให้กับทหารฟิลิปปินส์ที่อยู่บริเวณสันดอน เซคันด์ โธมัส โชล (Second Thomas Shoal) ซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งกับจีน

ยุทธวิธีของจีนสร้างความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการทำตามข้อตกลงทางกลาโหมร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ โดยประเด็นนี้อยู่ในหัวข้อหลักของการหารือ 3 ฝ่ายที่ทำเนียบขาวด้วย

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลรายหนึ่งบอกกับวีโอเอว่าไบเดน และคิชิดะจะเเสดงให้มาร์กอส จูเนียร์ เห็นถึง "ความุ่งมั่นตั้งใจ" ที่จะสนับสนุนฟิลิปปินส์

ที่ผ่านมา ยุทธวิธีของจีนต่อฟิลิปปินส์ในทะเลจีนได้เเสดงให้เห็นถึงการใช้มาตรการทางทหารที่ไม่รุนเเรงแต่สร้างแรงกดดันและอาจทำให้เกิดความสูญเสียได้ จึงถูกเรียกว่า "ยุทธวิธีในโซนสีเทา" (gray zone tactics)

เกรกอรี โพลิ่ง ผู้อำนวยการโครงการ Southeast Asia Program and Asia Maritime Transparency Initiative ที่ศูนย์ Center for Strategic and International Studies กล่าวว่า "ยุทธวิธีในโซนสีเทา" อาจจะออกมาในรูป เลเซอร์ความเเรงสูง คลื่นเสียงก่อกวน น้ำเเรงดันสูง หรือการขับเรือพุ่งชน

การกระทำเหล่านี้ไม่ได้เเสดงให้เห็นถึงการจงใจสังหารฝ่ายตรงข้าม แต่ก็อาจทำให้มีผู้เสียชีวิตได้

เขากล่าวว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์และวอชิงตันต้องตัดสินใจว่า gray zone tactics มีน้ำหนักเพียงพอหรือไม่ที่จะดำเนินการตามพันธะของความตกลงด้านกลาโหม

เมื่อปีที่แล้วรัฐมนตรีของสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์สร้างกรอบการพิจารณาร่วมกัน ที่ยืนยันว่าจะมีเหตุผลให้ใช้มาตรา 4 และ 5 ของสนธิสัญญาด้านกลาโหมร่วมกันปี 1951 หากเกิดการโจมตีในเขตแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงที่ใดก็ตามในทะเลจีนใต้ และครอบคลุมเรือและอากาศยานของทหารและภาคประชาชน ซึ่งรวมถึงหน่วยยามฝั่งด้วย

ทั้งนี้การประชุมสุดยอด 3 ฝ่ายของสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ เป็นรูปแบบการหารือลักษณะนี้ครั้งเเรก ภายใต้ยุทธศาสตร์ของไบเดนที่จะกระชับความร่วมมือกันพันธมิตรผ่านการเจรจากลุ่มเล็ก ๆ เพื่อขยายอิทธิพลของสหรัฐฯ ในเอเชีย

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG