ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘ไบเดน’ หนุนภาคธุรกิจร่วมแก้ปัญหาโลกร้อน ปิดฉากประชุมสุดยอด Climate Summit


Climate Summit
Climate Summit

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวในวันสุดท้ายของเวทีประชุมสุดยอดด้านการแก้ปัญหาภาวะอากาศเปลี่ยนเเปลงผิดธรรมชาติ หรือ Climate Summit หนุนภาคธุรกิจร่วมแก้ปัญหาโลกร้อน

ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวระหว่างการประชุมสุดยอด Climate Summit วันสุดท้าย ว่าด้วยโอกาสทางธุรกิจในกิจกรรมเพื่อการแก้ปัญหาสภาพอากาศ ชี้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อการให้น้ำหนักกับการแก้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติ โดยบอกว่า เมื่อเราลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและด้านการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน เท่ากับว่าเราได้สร้างโอกาสให้กับทุกคนด้วยเช่นกัน

สำหรับการประชุมสุดยอด Climate Summit วันสุดท้าย เป็นการหารือระหว่างผู้นำโลก ตัวแทนจากภาครัฐ และภาคเอกชน โดยในวันศุกร์ มีผู้นำอิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ โปแลนด์ สเปน ไนจีเรีย และเวียดนาม ที่เข้าร่วมเวทีประชุมวันสุดท้ายนี้ และมีตัวแทนจากกระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เข้าร่วม เพื่อช่วยสนับสนุนนโยบายของปธน.ไบเดน ในการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล ด้วยการทุ่มลงทุนมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ในเทคโนโลยีพลังงานสะอาด การวิจัย การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ควบคู่ไปกับการปกป้องทรัพยากรโลก

จอห์น แคร์รี ทูตพิเศษด้านปัญหาสภาพภูมิอากาศ กล่าวย้ำข้อเรียกร้องของปธน.ไบเดน ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ ที่เน้นพลังงานสะอาด ซึ่งจะสร้างผลดีต่อเศรษฐกิจอเมริกันในระยะยาว และว่าไม่มีใครต้องเสียสละสิ่งที่มีไป แต่นี่คือโอกาสที่จะมาถึง

มหาเศรษฐีและอดีตนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก ไมเคิล บลูมเบิร์ก กล่าวบนเวที Climate Summit ในวันศุกร์ว่า เราไม่อาจต่อสู้กับการการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผิดธรรมชาตินี้ได้ โดยปราศจากการลงทุนใหม่มูลค่ามหาศาล และเราต้องเร่งมือและลงมือมากกว่านี้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ในการประชุมสุดยอด Climate Summit ที่สหรัฐฯ จัดประชุมออนไลน์ร่วมกับ 40 ประเทศทั่วโลก ปธน.ไบเดน ได้ประกาศเป้าหมายใหม่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50-52% ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 นับเป็นเป้าหมายด้านการแก้ปัญหาโลกร้อนที่สูงสุดเท่าที่สหรัฐฯ เคยกำหนดมา และมากเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับยุคอดีตปธน.บารัค โอบามา ที่นำสหรัฐฯ เข้าร่วมสนธิสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก เมื่อปี ค.ศ. 2015

ขณะที่พันธมิตรของสหรัฐฯ อย่างแคนาดาและญี่ปุ่น ต่างปรับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายในปี ค.ศ. 2030 ที่ ระดับ 40% และ 46% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิจารณ์ถึงเป้าหมายใหญ่ด้านการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติในยุคของไบเดน ที่เน้นการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในทุกภาคอุตสาหกรรมในอเมริกา ว่าอาจต้องเจอแรงกดดันในสภาสหรัฐฯอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

XS
SM
MD
LG