ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ไขปริศนา - เหตุใดฟ้าจีนจึงกระจ่างใสขึ้นรับ ‘ปักกิ่ง เกมส์ 2022’


Cyclists ride past a traditional Chinese gateway during a day murky from fog and pollution in Beijing, on Oct. 26, 2007, top, and the same location on Feb. 5, 2022. (AP Photo/Ng Han Guan, File)
Cyclists ride past a traditional Chinese gateway during a day murky from fog and pollution in Beijing, on Oct. 26, 2007, top, and the same location on Feb. 5, 2022. (AP Photo/Ng Han Guan, File)

ท้องฟ้าที่กระจ่างใสขึ้นในบริเวณกรุงปักกิ่งได้เปิดโอกาสให้นักกีฬาและผู้ชมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวทั่วโลกยลโฉมความงดงามของธรรมชาติและทิวเขาท่ีรายล้อมเมืองหลวงของประเทศจีน

การปรับสภาพอากาศของกรุงปักกิ่งให้เปลี่ยนจากสถานที่ซึ่งเคยเต็มไปด้วยมลพิษที่บดบังภูมิทัศน์มาเป็นฟ้าที่ใสได้ในปัจจุบันจึงถือเป็นผลสำเร็จของทางการจีนที่หลายประเทศหันมาให้ความสนใจ

รายงานจากสถาบัน Energy Policy Instituteในนครชิคาโกของสหรัฐฯ อธิบายว่า รัฐบาลจีนเริ่มโครงการพัฒนาสภาพอากาศและปฏิญาณว่าจะสู้มลพิษด้วย “กำปั้นเหล็ก” ในปี 2013 ซึ่ง ในปีนั้นเกิดเหตุการณ์สำคัญสองอย่างขึ้น ได้แก่ กรุงปักกิ่งประสบวิกฤตทางมลพิษหนักที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ และทางการจีนเสนอแผนเพื่อแข่งเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว 2022

สำนักข่าวเอพีระบุว่า ความพยายามในการฟื้นฟูสภาพอากาศของจีนที่เกิดขึ้นตามมานั้นคล้ายคลึงกับแผนปฏิบัติการในช่วงปี 2008 ที่จีนเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกฤดูร้อน

FILE - A construction site is seen against the backdrop of skyscrapers on a day with high air pollution in Beijing, China, March 11, 2021.
FILE - A construction site is seen against the backdrop of skyscrapers on a day with high air pollution in Beijing, China, March 11, 2021.

ทว่าข้อแตกต่างสำคัญอยู่ที่ความเข้มงวดของมาตรการและแผนการดำเนินงานที่มีความครอบคลุมมากขึ้น เช่น การกวดขันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงงานถ่านหิน การจำกัดจำนวนรถยนต์ที่สามารถวิ่งบนท้องถนน และ การเปลี่ยนหม้อไอน้ำที่ใช้พลังงานจากถ่านหินมาเป็นแบบแก๊ส หรือการใช้ฮีตเตอร์ไฟฟ้าแทน

การกวดขันข้างต้นส่งผลให้คุณภาพอากาศดีขึ้น โดยรัฐบาลจีนระบุว่าเมื่อปีที่ผ่าน กรุงปักกิ่งมีวันที่มีคุณภาพอากาศดีถึง 288 วัน เพิ่มขึ้นจาก 176 วันเมื่อปี 2013

ประชาชนในกรุงปักกิ่งอย่าง นาย เจีย เผย บอกกับสำนักข่าวเอพีว่าสภาพอากาศที่ดีขึ้นทำให้เขาอารมณ์ดี “ในอดีตที่เมืองมีมลพิษควัน (smog) ผมรู้สึกราวกับว่ากำลังสูดฝุ่นเข้าปาก”

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเอพีชี้ว่า แม้กรุงปักกิ่งจะแสดงความคืบหน้าในการพัฒนาสภาพอากาศ แต่ค่ามลพิษโดยเฉลี่ยของเมืองข้างต้นเมื่อปีที่ผ่านมาก็ยังคงสูงกว่ามาตราฐานขององค์กรอนามัยโลกถึง 6 เท่า

ลอรี่ มิลลิเวอร์ต้า แห่งสถานบันวิจัย Center for Research on Energy and Clean Air ในประเทศฟินแลนด์บอกด้วยว่า ความหนาแน่นของอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานจากถ่านหินที่ตั้งอยู่รอบกรุงปักกิ่งถือเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้เมืองประสบปัญหามลพิษเมื่อไหร่ก็ได้

ทางด้าน โกวจุน เหอ นักวิจัยแห่ง University of Hong Kong และผู้ร่วมเขียนรายงานจากสถาบัน Energy Policy Institute กล่าวว่า วิกฤตทางสภาพอากาศส่งผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์โดยตรง โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางสุขภาพอยู่แล้ว หรือคนยากจนที่ไม่มีกำลังซื้อเครื่องฟอกอากาศและต้องออกมาเผชิญฝุ่นควันตามท้องถนนเพื่อทำมาหากิน เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็กจากมลพิษจะโจมตีปอดและอาจก่อให้เกิดการเสื่อมสภาพของปอดหรือทำให้หัวใจเต้นที่ผิดจังหวะ

ทั้งนี้ นักวิจัยผู้นี้กล่าวเสริมว่า จีนได้ตั้งเป้าหมายว่าจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ซึ่งหมายถึงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ให้สำเร็จภายในปี 2060

โดยรัฐบาลได้แสดงความคืบหน้าของแผนการน้ีด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ลดน้อยลงและหันมาพัฒนาพลังงานสะอาด เช่น พลังงานจากลมและแสงอาทิตย์

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG