ผลการสำรวจเมื่อปีที่แล้วของ NerdWallet ซึ่งเป็นเวปไซต์เรื่องการเงินส่วนบุคคลแสดงว่าคนอเมริกันราว 31% จะรู้สึกไม่สบายใจเมื่อคิดหรือพูดถึงเรื่องการเงินของตนเอง
แต่คุณ Addie McHale นักวางแผนด้านการเงินแนะว่าเราสามารถจะแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการปรับความคิดและทัศนคติที่มีต่อเงินเสียใหม่ ไม่ว่าความสัมพันธ์ที่เคยมีอยู่กับเงินนั้นจะเป็นอย่างไร เช่น เดิมอาจรู้สึกว่าเงินเป็นเหมือนญาติห่างๆ ที่ไม่ค่อยได้เจอกันไม่ค่อยอยู่ในความคิด เป็นคนแปลกหน้าที่พยายามจะหลีกเลี่ยง เป็นศัตรูคู่ปรับที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ให้เปลี่ยนเป็นมิตรซึ่งเข้าใจซึ่งกันและกันมากกว่า
นักวางแผนด้านการเงินอย่างเช่นคุณ Addie McHale บอกว่าถ้าคุณมีความสัมพันธ์ในทางบวกกับเงินเหมือนกับมีเพื่อนที่ดีอยู่ข้างกาย ความสัมพันธ์ที่ว่านี้จะช่วยให้คุณมีความมั่นใจและเพิ่มโอกาสให้คุณได้ใช้ประโยชน์จากเงินได้สูงสุดเลยทีเดียว โดยคุณ Addie McHale บอกว่ามีขั้นตอนง่ายๆ อยู่สามสี่อย่างที่ทุกคนสามารถจะทำได้เลย
ข้อแรกสุดคือเริ่มจากการใส่ใจให้เวลากับเรื่องเงินบ้าง เช่น ทบทวนเรื่องลักษณะการใช้เงินเป็นระยะ ดูว่าบัญชีเงินออมเป็นอย่างไร และยอดหนี้ตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว ซึ่งเมื่อเราเริ่มให้เวลาที่มีคุณภาพกับเงินอย่างจริงจังบางครั้งสิ่งดีๆ ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ อย่างเช่นเราอาจพบรายจ่ายบางอย่างที่ไม่จำเป็น สามารถเพิ่มยอดการออมหรือการลงทุนที่มองข้ามไป หรือเร่งจ่ายหนี้ที่เสียดอกเบี้ยมากเกินไป เป็นต้น
คำแนะนำข้อที่สองก็คือเงินนั้นก็เหมือนมิตรภาพที่ดีที่จะต้องเริ่มจากการเรียนรู้และทำความเข้าใจ ดังนั้นเราควรใช้ความพยายามศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับเงินบ้าง เช่น อ่านหนังสือหรือฟัง podcast เกี่ยวกับการเงิน คุยกับเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวผู้มีประสบการณ์ และหาคำแนะนำจากที่ปรึกษาด้านการเงินเป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้เงินทำงานสำหรับเราแทนที่จะเป็นเราซึ่งต้อง
ทำงานเพื่อหาเงิน
ข้อแนะนำประการที่สามจากนักวางแผนด้านการเงินก็คือแรงกดดัน ทางสังคมและสิ่งที่ได้เห็นอยู่มักชวนให้คิดว่าเรามีเงินไม่พอและต้องพยายามหาให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในทางกลับกันคุณ Addie McHale บอกว่าเราควรเปลี่ยนวิธีคิดมาชื่นชม ขอบคุณ และพอใจในสิ่งที่เรามีไม่ใช่ต้องทำงานอย่างเหนื่อยล้าเพื่อหาเงินมาเพิ่มอย่างไม่รู้จักจบสิ้น แน่นอนที่ว่าทัศนคติแบบนี้อาจไม่ทำให้คุณรวยขึ้นเสมอไปแต่จะช่วยให้คุณมีความสัมพันธ์ในแง่บวกหรือมีทัศนคติที่เปลี่ยนไปเกี่ยวกับเงินและการใช้เงินอย่างแน่นอน
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราไม่อยากใช้เงินซื้ออะไรบางอย่างที่เกินกำลัง แทนที่จะมีความคิดในแง่ลบว่าเราไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอเราควรจะคิดใหม่ว่าเราเลือกที่จะไม่ใช้เงินเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งนั้นมากกว่า
และท้ายที่สุด ที่ปรึกษาด้านการเงินแนะว่าเราไม่ควรโทษตัวเองถ้าทำอะไรที่ผิดพลาดเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ อย่างเช่นการจ่ายบิลล่าช้าจนเสียค่าปรับหรือการกู้หนี้ยืมสินจนมากเกินไป แต่เราควรให้อภัยในความผิดพลาดของตัวเอง ยอมรับ และนำประสบการณ์ที่ว่านี้มาเรียนรู้เพื่อปรับปรุงและเดินหน้าต่อไป
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินชี้ว่าทัศนคติที่เรามีต่อเงินนั้นสำคัญพอๆ กับจำนวนเงินที่เรามีอยู่ และคำพูดที่ว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้ทุกสิ่งนั้นก็อาจจะจริง เพราะความสุขที่แท้จริงน่าจะอยู่ที่การได้รู้ว่าเรามีโอกาสหาเงินและสามารถควบคุมการใช้เงินได้อย่างไร แทนที่จะปล่อยให้ตัวเลขยอดเงินนั้นมาเป็นนายเรา