ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ออสเตรเลียและอียู เริ่มกลับมาเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี


FILE - A container ship is unloaded at Port Botany in Sydney, Australia, Oct. 5, 2021.
FILE - A container ship is unloaded at Port Botany in Sydney, Australia, Oct. 5, 2021.

ออสเตรเลียและสหภาพยุโรป (อียู) เริ่มกลับมาเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกันอีกครั้งที่กรุงแคนเบอร์รา ขณะที่ ผู้นำรัฐบาลกรุงลอนดอนคนใหม่ออกตัวว่า ยังไม่พร้อมเจรจาประเด็นการค้ากับสหรัฐฯ ในเวลานี้

รายงานข่าวระบุว่า การเจรจาระหว่างออสเตรเลียและอียูนั้น เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2017 แต่ตลอดช่วงที่ผ่านมานั้น กระบวนการเจรจาไม่มีความราบรื่นสักเท่าใด

หนึ่งในประเด็นที่ทำให้การพูดคุยกับทั้งสองฝ่ายมีความชะงักงันคือ กรณีที่ออสเตรเลียยกเลิกคำสั่งซื้อเรือดำน้ำมูลค่ามหาศาลจากฝรั่งเศส เพื่อเอาใจกลุ่มความร่วมมือ AUKUS ที่ประกอบด้วยสหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย เมื่อเดือนกันยายนของปีที่แล้ว

แต่ความไม่พอใจในเรื่องนี้เริ่มลดทอนลงไปแล้วจนทำให้การเจรจาเดินหน้าต่อไปได้ แม้ยุโรปจะยังมีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลีย ภายใต้การนำของรัฐบาลอนุรักษ์นิยมซึ่งสนับสนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ดี พรรคแรงงานซึ่งเพิ่งชนะเลือกตั้งขึ้นมาคุมรัฐบาลเมื่อเร็ว ๆ นี้เพิ่งประกาศแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 43% ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยเป็นครั้งแรกที่มีการตั้งเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมผ่านกระบวนการนิติบัญญัติออกมาในออสเตรเลีย และประเด็นนี้ก็มีถูกนำเข้ามาหารือในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับยุโรปแล้วด้วย

อียูเล็งที่จะหาประโยชน์จากไฮโดรเจนสีเขียว ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดของออสเตรเลียและสินแร่สำคัญ ๆ ของประเทศนี้ เช่น ลิเธียม เพื่อมาใช้ในการผลิตพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สถานการณ์ด้านอุปทานพลังงานประสบปัญหาหนักอยู่ เนื่องจากผลกระทบของสงครามในยูเครนที่เกิดขึ้นจากการรุกรานของรัสเซีย

ในส่วนออสเตรเลียนั้น ทีมผู้แทนเจรจาหวังที่จะได้เพิ่มการส่งออกสินค้าเกษตรหลัก ๆ เช่น เนื้อวัว ผลิตภัณฑ์นมเนย น้ำตาลและธัญพืช แต่นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ภาคการเกษตรนั้นเป็นส่วนที่มีความอ่อนไหวซึ่งสมาชิกอียูบางประเทศยังต้องการให้มีการปกป้องด้วยการจำกัดการนำเข้าต่อไป

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์ แห่งอังกฤษ ซึ่งเดินทางมาสหรัฐฯ ในวันอังคารเพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในสัปดาห์นี้ ยอมรับว่า ประเด็นการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างอังกฤษและสหรัฐฯ นั้นน่าจะใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้

British Prime Minister Liz Truss to attend the 77th United Nations General Assembly in New York
British Prime Minister Liz Truss to attend the 77th United Nations General Assembly in New York

นายกฯ ทรัสส์ กล่าวว่า ข้อตกลงระหว่างประเทศสองฟากฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติกนั้นไม่ใช่เรื่องที่มีความสำคัญในลำดับต้น ๆ ของรัฐบาล ซึ่งถือว่าเป็นจุดยืนที่แตกต่างอย่างมากจากอดีตนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน และอดีตนายกรัฐมนตรีเธเรซา เมย์ เนื่องจากอดีตผู้นำทั้งสองต่างสัญญาที่จะผลักดันข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ให้ได้ หลังนำพาอังกฤษออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของอียู หรือ เบร็กซิต

นายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอกกับผู้สื่อข่าวที่ร่วมเดินทางจากกรุงลอนดอนมายังนครนิวยอร์กว่า “ในเวลานี้ ยังไม่มีการเจรจาใด ๆ กับสหรัฐฯ และดิฉันไม่มีความคาดหวังว่า(การเจรจา)เหล่านั้นจะเริ่มต้นขึ้นในระยะสั้นถึงกลาง” พร้อมย้ำว่า สิ่งที่เธอกำลังมุ่งความสนใจไปอยู่ก็คือ การเจรจาข้อตกลงการค้ากับหุ้นส่วนทางฟากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและอินเดีย รวมทั้ง กลุ่มประเทศ Gulf Cooperation Council (GCC) ซึ่งรวมถึง ซาอุดิอาระเบียและกาตาร์

ในส่วนของการประชุมร่วมกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระหว่างการเยือนสหรัฐฯ ครั้งนี้ นายกฯ ทรัสส์ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการหารือคือ การทำให้มั่นใจว่า ประเทศพันธมิตรต่าง ๆ จะร่วมมือกันจัดการกับกรณีการรุกรานยูเครนของรัสเซียได้

  • ที่มา: วีโอเอและเอพี
XS
SM
MD
LG