ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักกีฬาเชื้อสายเอเชียในระดับอุดมศึกษา สัดส่วนที่ยังไม่สมดุลในสหรัฐฯ


'คีริน ตันติเวทย์'
'คีริน ตันติเวทย์'
Asia Student Athletes in US
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:37 0:00


แม้กีฬาจะเป็นกิจกรรมที่ไม่มีการแบ่งแยกสีผิวหรือเชื้อชาติ แต่ในความเป็นจริง จำนวนนักเรียนเชื้อสายเอเชีย ในแวดวงกีฬาระดับชั้นมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐฯ จัดว่าอยู่ในสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อชาติอื่นๆ

คีริน ตันติเวทย์ นักวิ่ง วัย 23 ปี ลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ที่เพิ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอไทยโดยระบุว่า “ตอนที่เป็นเด็ก แล้วมองหานักวิ่งที่ประสบความสำเร็จจากมหาวิทยาลัยในกลุ่มไอวีลีก (Ivy League) ปรากฏว่าไม่มีสักคนที่มีพื้นฐานมาจากอเมริกันเชื้อสายเอเชีย... ดังนั้นก็เลยไม่มีคนต้นแบบให้เป็นแรงบันดาลใจ”

คีรินมองว่าการ “ขาดคนต้นแบบ” ทำให้สัดส่วนจำนวนนักเรียน นักกีฬา อเมริกันเชื้อสายเอเชียอยู่ในระดับที่ไม่ปรับตัวสูงขึ้น

นอกจากนี้ คีรินเห็นว่ามีชุดความเชื่อหนึ่งที่คนส่วนใหญ่มักจะมองว่า นักเรียนอเมริกัน เชื้อสายเอเชีย อาจจะเลือกให้ความสำคัญกับการศึกษา มากกว่าการพัฒนาทักษะด้านกีฬา ซึ่งสำหรับเขาแล้วสิ่งนี้ไม่เป็นความจริง

“โค้ชเคยสอนว่า ถ้าอยากที่จะประสบความสำเร็จทั้งสองด้าน ต้องให้ความสำคัญอย่างทุ่มเทกับทั้งการเรียนและการฝึกซ้อมกีฬา จัดตารางให้เหมาะสม ใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ...อย่างตอนซ้อมวิ่ง ก็จะตั้งใจซ้อม และตอนอยู่ในชั้นเรียนก็จะไม่ว่อกแว่กกับเรื่องอื่น”

อ้างอิงสถิติจากเว็บไซต์สมาคมกีฬาระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ NCAA ระบุว่าจำนวนนักกีฬาระดับอุดมศึกษาทั้งหมดราว 498,691 คน มีคนเชื้อสายเอเชีย รวมทั้งเชื้อสายจากประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก รวมทั้งฮาวาย คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 2 ซึ่งน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับสัดส่วนของคนขาวซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 64

ทางด้าน Kristen Enriquez นักฟุตบอลหญิง วัย 21 ปี ลูกครึ่งฟิลิปปินส์-อเมริกัน จากมหาวิทยาลัยเยล แม้ตัวเธอเองจะไม่เคยได้รับการดูแคลนจากการเป็นนักกีฬาเชื้อสายเอเชีย แต่ Kristen มองว่าประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเชื้อชาติของนักกีฬาระดับอุดมศึกษา ควรที่จะครอบคลุมไปสู่ชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ด้วย

โดย Kristen บอกกับวีโอเอไทยว่า “เวลาที่มองไม่เห็นตัวเอง ไปอยู่ในจุดที่สูงขึ้น เราก็มักถามตัวเองว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น”

นอกจากนี้ Kristen กล่าวว่า “การที่มหาวิทยาลัยของเธอแต่งตั้งผู้หญิงอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการด้านกีฬา ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี” โดยในปี พ.ศ. 2551 ทางมหาวิทยาลัยเยลได้แต่งตั้ง Victoria Chun ขึ้นเป็นผู้อำนวยการด้านการกีฬา โดยเธอคือผู้หญิงอเมริกันเชื้อสายเอเชียคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ในประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยเยล

ส่วน Chris Downer อายุ 31 ปี ลูกครึ่งจีน-อเมริกัน จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Dartmouth College เขาเล่าถึงประสบการณ์ขณะที่เป็นนักกีฬารักบี้ของมหาวิทยาลัย ซึ่ง Chris บอกว่าสมาชิกในทีมของเขามีความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ ทำให้เขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยว

แม้ครอบครัวชาวเอเชียจะมีภาพลักษณ์ที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมาก แต่สำหรับทั้งสามคนที่วีโอเอไทยได้พูดคุยด้วย กล่าวถึงประเด็นครอบครัวในทิศทางที่คล้ายกัน คือให้การสนับสนุนพวกเขาในการเล่นกีฬา อย่างเช่น ครอบครัวของ Chris อนุญาตให้เขาเล่นกีฬาได้อย่างเต็มที่ แต่ต้องไม่ทิ้งการเรียน ส่วนครอบครัวของ Kristen ได้ให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน และคอยสนับสนุนเวลาที่เธอต้องเผชิญสถานการณ์ที่ยากต่อการตัดสินใจ

ทางด้านคีริน เขาเล่าให้ฟังว่าคุณพ่อของเขาจะคอยขี่จักรยานไปเป็นเพื่อนขณะที่เขาซ้อมวิ่งเพื่อช่วยให้คีรินไม่รู้สึกเหงา และด้วยการสนับสนุนที่ดีจากครอบครัว ทำให้คีรินประสบความสำเร็จทั้งด้านการศึกษาที่เกรดเฉลี่ย 3.7 และด้านกีฬา และสามารถสร้างสถิติใหม่ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ด้วยการวิ่งระยะ 1 ไมล์ด้วยเวลาน้อยกว่า 4 นาที

แม้ประเด็นจำนวนนักกีฬาอเมริกันเชื้อสายเอเชียในมหาวิทยาลัยกลุ่มไอวีลีกจะยังมีสัดส่วนที่ค่อนข้างจำกัด แต่ในเว็บไซต์ของกลุ่มไอวีลีกได้กล่าวชัดเจนว่า มีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติของกลุ่มนักกีฬา ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าเราจะได้เห็นช่องว่างดังกล่าวที่ถูกทำให้แคบลง และมีสัดส่วนที่สมดุลมากยิ่งขึ้น

XS
SM
MD
LG