ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ประเทศในเอเชียให้ความสำคัญเรื่อง 'เศรษฐกิจและการค้า' มากกว่า 'สิทธิมนุษยชน'


Leaders from the ASEAN and their Dialogue Partners which comprises the East Asia Summit or EAS, link hands for a brief group photo session at the ongoing 31st ASEAN Summit November 14, 2017 in Manila, Philippines.
Leaders from the ASEAN and their Dialogue Partners which comprises the East Asia Summit or EAS, link hands for a brief group photo session at the ongoing 31st ASEAN Summit November 14, 2017 in Manila, Philippines.

วิสามัญฆาตกรรมในฟิลิปปินส์หรือสิทธิของชาวโรฮิงจะ ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาระหว่างการประชุมสุดยอดของอาเซียน

ระหว่างการประชุมสุดยอดของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา 8 ประเทศที่ฟิลิปปินส์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประเด็นเฉพาะซึ่งเป็นเรื่องร้อนภายในประเทศ เช่น นโยบายปราบปรามยาเสพติดและวิสามัญฆาตกรรมในฟิลิปปินส์ หรือเรื่องสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงจะ ในเมียนมาร์ ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นเจรจาโดยเฉพาะจากสหรัฐฯ

แต่ในทางตรงข้าม กลุ่มประเทศอาเซียนมุ่งให้ความสนใจกับเรื่องการค้าและการลงทุนมากกว่า

โดยปกติแล้วสมาชิกของสมาคมอาเซียนมักมีนโยบายไม่ก้าวก่ายแทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน

อาจารย์ Daniel Chau รองผู้อำนวยการโครงการบัณฑิตศึกษาของ S. Rajaratnam School of International Studies ที่มหาวิทยาลัย Nanyang Technological ในสิงคโปร์ กล่าวว่า ประเทศในเอเชียโดยรวมมักไม่นำเรื่องโครงการเศรษฐกิจเข้าไปยุ่งเกี่ยวปะปนกับกิจการภายในประเทศ หรือเรื่องสิทธิมนุษยชนเช่นกัน

และนโยบายการไม่ก้าวก่ายแทรกแซงกิจการภายในนี้ช่วยให้ประเทศต่างๆ ในเอเชีย สามารถมุ่งเน้นเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันได้เต็มที่ โดยไม่ต้องกริ่งเกรงใจว่า จะต้องมีการสนทนานอกรอบเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชน เรื่องแรงงาน หรือสิ่งแวดล้อม กับผู้นำประเทศตะวันตกในภายหลัง

ตัวอย่างที่ชัดเจนของเรื่องนี้ คือแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับเนื้อหาของข้อตกลงการค้าเสรี RCEP หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership ที่จะผูกพันสมาชิกของอาเซียนกับหกประเทศคู่เจรจา คือ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ ซึ่งมีประชากรรวมกันราวครึ่งหนึ่งของโลก และสามารถมุ่งเน้นที่เนื้อหาเรื่องเศรษฐกิจและการค้าโดยเฉพาะ โดยไม่มีการกล่าวถึงประเด็นด้านแรงงานสิ่งแวดล้อมหรือสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด

ข้อตกลงการค้าเสรี RCEP ที่มีสมาคมอาเซียนเป็นผู้นำการเจรจาดังกล่าวนี้ ถือเป็นทางเลือกหรือคำตอบสำหรับข้อตกลงการค้า TPP ที่สหรัฐฯ เพิ่งประกาศถอนตัวออกไป

ทางด้านอาจารย์ Daniel Chau จาก S. Rajaratnam School of International Studies ก็ชี้ด้วยว่า การที่หลายประเทศในกลุ่มอาเซียนเพิ่งจะได้เอกราชจากสหรัฐฯ หรือยุโรปในช่วง 60 ถึง 70 ปีหลังนี้ ทำให้การปกป้องอธิปไตยและความรู้สึกเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

ส่วนคุณ Jayant Menon หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ก็บอกว่า ประเด็นเรื่องการรวมตัวทางเศรษฐกิจนั้นยังนับว่าค่อนข้างใหม่สำหรับเอเชีย เมื่อเทียบกับการรวมตัวอย่างเป็นปึกแผ่นของสหภาพยุโรป

ดังนั้นสำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนแล้ว การเปิดพรมแดนเพื่อรวมตัวทางเศรษฐกิจนั้นจึงมักถูกมองในฐานะหนทางมากกว่าเป้าหมาย คือเป็นการรวมตัวกันเปิดเขตเศรษฐกิจเพื่อดึงดูดการค้าและการลงทุนจากภายนอกมากกว่า


XS
SM
MD
LG