ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รายงาน UN สนับสนุนการยกเลิกหรือลดโทษของกฎหมายห้ามค้าประเวณีในแถบเอเชีย


รายงานของสหประชาชาติฉบับนี้สำรวจชีวิตของผู้ค้าแรงงานทางเพศใน 48 ประเทศทั่วเอเชีย เพื่อตรวจสอบว่ากฎหมายเกี่ยวกับการค้าประเวณีในประเทศต่างๆส่งผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยของตัวผู้ค้าประเวณีและครอบครัวอย่างไร

คุณน้อย หรือคุณจันทวิภา อภิสุข ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Empower ในประเทศไทย ชี้ว่าไทยยังขาดกฎหมายปกป้องแรงงานทางเพศในแบบเดียวกับแรงงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาเธอได้พยายามวิ่งเต้นให้รัฐบาลไทยออกกฎหมายลักษณะนี้ คุณจันทวิภาระบุว่าผู้ค้าแรงงานทางเพศถือเป็นแรงงานประเภทหนึ่ง และงานในลักษณะเพื่อความบันเทิงที่คนเหล่านั้นทำก็ถือเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งเช่นกัน ดังนั้นคนทำงานในธุรกิจเพื่อความบันเทิงดังกล่าวจึงควรได้รับการปกป้องภายใต้กฎหมายแรงงาน เช่นเดียวกับแรงงานในภาคการผลิตและภาคการเกษตร และเมื่อเกิดปัญหาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างก็ควรตัดสินหรือไกล่เกลี่ยในศาลแรงงานไม่ใช่โดยตำรวจ

รายงานของสหประชาชาติชี้ว่าในประเทศที่การค้าประเวณีเป็นเรื่องผิดกฎหมาย บรรดาแรงงานทางเพศจะมีความเสี่ยงและมีชีวิตยากลำบากเนื่องจากงานของคนเหล่านั้นถูกตราบาปและถูกปฏิเสธจากสังคม รายงานยังบอกด้วยว่าการยกเลิกโทษสำหรับผู้ค้าประเวณีจะทำให้แรงงานทางเพศมีโอกาสได้รับบริการทางการแพทย์ที่ดีกว่าเดิม

ดร. Mandeep Dhaliwal รักษาการณ์ผอ.โครงการเพื่อการพัฒนาและสุขภาพของผู้ติดเชื้อ HIV ของสหประชาชาติ ระบุว่ามีหลักฐานบ่งชี้ว่าการปรับเปลี่ยนกฎหมายห้ามค้าประเวณีในบางประเทศ สามารถช่วยต่อสู้กับปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัส HIV ที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ได้ ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้ยกตัวอย่างการยกเลิกโครงการจับกุมผู้ค้าประเวณีและครอบครัวในเวียดนามและจีน ตลอดจนความพยายามของกัมพูชาและพม่าเพื่อให้ตำรวจยุติการล่วงละเมิดต่อกลุ่มแรงงานทางเพศ ถึงกระนั้นก็ยังมีกฎหมายอีกหลายอย่างที่สมควรได้รับการแก้ไข
ดร. Mandeep Dhaliwal ยกตัวอย่างโครงการมูลค่าหลายล้านดอลล่าร์เพื่อจัดหาถุงยางอนามัยในการปกป้องเชื้อไวรัส HIV แต่ในทางกลับกัน ตำรวจยังใช้ถุงยางอนามัยเป็นหลักฐานในการจับกุมผู้ค้าประเวณี ซึ่งเธอคิดว่าเป็นนโยบายที่ขัดแย้งกันเองและทำให้การรณรงค์ป้องกันโรคเอดส์ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร

ทางด้านคุณ John Godwin ผู้จัดทำรายงานชิ้นนี้ยืนยันว่าประเทศที่สนับสนุนนโยบายลดโทษสำหรับผู้ค้าประเวณี สามารถลดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและปัญหาด้านสุขภาพบางอย่างได้ และว่าชุมชนหรือระดับรากหญ้าในหลายประเทศได้ทำงานร่วมกับตำรวจและเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีกว่าเดิมสำหรับแรงงานทางเพศ ซึ่งรวมถึง อินเดีย ปาปัวนิวกินี มองโกเลีย ลาว ฟิลิปปินส์ และไทย
XS
SM
MD
LG