ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้นำอาเซียนหลายรายลังเลร่วมเดินหน้าปฏิญญาว่าด้วยการรักษาพื้นที่ป่า-แก้ปัญหาสภาพดินเสื่อมโทรม


Colombia's President Ivan Duque reacts beneath a sign reading "We are planting 180 million trees" during the COP26 UN Climate Change Conference in Glasgow, Scotland on Nov. 2, 2021.
Colombia's President Ivan Duque reacts beneath a sign reading "We are planting 180 million trees" during the COP26 UN Climate Change Conference in Glasgow, Scotland on Nov. 2, 2021.
Asia Cop 26
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:04 0:00


ผู้นำกว่าร้อยประเทศประกาศเจตนารมณ์ที่จะยับยั้งการเสียพื้นที่ป่าไม้และความเสื่อมโทรมสภาพดิน แต่หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังลังเลอยู่

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ในการประชุม COP26 ที่สกอตแลนด์ มีผู้นำของประเทศต่างๆ กว่า 120 ประเทศเข้าร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยการใช้ที่ดินและผืนป่า หรือ Glasgow Leaders’ Declaration on Forests and Land Use เพื่อทำงานร่วมกันในการยุติการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้และความเสื่อมโทรมของพื้นดิน

อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว และกัมพูชาซึ่งยังไม่ได้เข้าร่วมหรือไม่ได้แสดงความมุ่งมั่นในเรื่องนี้

แม้ปฏิญญาที่บรรดาผู้นำกว่า 120 ประเทศลงนามแล้วจะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ก็มีการระบุเป้าหมายเพื่อยุติการสูญเสียพื้นที่ป่าและความเสื่อมโทรมของผิวดิน รวมทั้งเพื่อฟื้นคืนสภาพทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าวภายในปี ค.ศ. 2030 หรือในอีก 9 ปีจากนี้ ด้วยความช่วยเหลือด้านการเงินจากภาครัฐและภาคเอกชนราว 19,000 ล้านดอลลาร์สำหรับประเทศกำลังพัฒนา

ขณะนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีพื้นที่ป่าเขตร้อนอยู่ราว 15% ของโลก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมชี้ว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนซึ่งทำให้โลกร้อน อย่างไรก็ดี ยังมีหลายประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย ลาว กัมพูชา รวมทั้งอินโดนีเซียที่ยังไม่เข้าร่วมความตกลงดังกล่าวหรือแสดงท่าทีที่ไม่ชัดเจน

ขณะนี้ มาเลเซียและลาวอยู่ในกลุ่มหนึ่งใน 10 ประเทศแรกของโลกซึ่งสูญเสียพื้นที่ป่าเขตร้อนในปีที่แล้ว ตามข้อมูลของหน่วยงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมชื่อ World Resources Institute หรือ WRI ในสหรัฐฯ โดยกัมพูชาก็ติดอันดับ 11 ของรายชื่อนี้ด้วย

และหลังจากที่มีเสียงเรียกร้องจากพรรคฝ่ายค้านรวมทั้งจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เรื่องแผนที่จะเข้าร่วมในข้อตกลงดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนเวลา

ขณะนี้ มาเลเซียกับอินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลกที่ต้องอาศัยการถางป่าและการใช้พื้นที่ป่าพรุซึ่งเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอน โดยตัวเลขของ WRI บ่งชี้ว่าพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายในทั้งสองประเทศเมื่อปีที่แล้วตกประมาณ 2 ล้านไร่ หรือราวกว่า 2 เท่าของพื้นที่มหานครกรุงลอนดอนเลยทีเดียว และ Charles Santiago นักการเมืองท้องถิ่นของมาเลเซียก็เชื่อว่ากลุ่มธุรกิจที่ทรงพลังในประเทศ คงพยายามขัดขวางเพื่อไม่ให้มาเลเซียสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ประกาศไว้สำหรับปี 2030

ทางด้านอินโดนีเซีย ซึ่งติดอันดับหนึ่งในสิบของประเทศที่สูญเสียพื้นที่ป่าเขตร้อนเมื่อปีที่แล้วเช่นกัน ตัวเลขของหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม WRI ระบุว่า พื้นที่ป่าที่ต้องสูญหายไปในอินโดนีเซียมีมากเท่ากับพื้นที่ป่าที่ถูกโค่นลงในลาว กัมพูชา และมาเลเซียรวมกัน โดยถึงแม้ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด้ จะได้ร่วมลงนามในปฏิญญาผู้นำในการประชุม COP26 เพื่อช่วยยุติการสูญเสียพื้นที่ป่าเมื่อต้นเดือนนี้ก็ตาม แต่ท่าทีของ Siti Nurbaya Bakar รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอินโดนีเซียในวันถัดมา ซึ่งโพสต์ทาง Facebook แสดงให้เห็นว่า ความมุ่งมั่นของอินโดนีเซียให้มีการทำลายป่าสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2030 นั้นเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมและไม่ยุติธรรม ซึ่งก็ทำให้เกิดคำถามและความสงสัยเกี่ยวกับเจตนา รวมทั้งความจริงใจของอินโดนีเซีย และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมก็เกรงว่ากลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจจะพยายามขัดขวางการดำเนินงานของรัฐบาลกรุงจาร์กาตาร์ในเรื่องนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันศุกร์สัปดาห์ที่แล้วโฆษกของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน ได้ยืนยันว่า คำประกาศเป้าหมายของอินโดนีเซียเรื่องการทำลายป่าสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2030 นั้นสอดคล้องกับเจตนาในคำประกาศของผู้นำกว่า 120 ประเทศ แต่ Arief Wijaya ผู้บริหารของ WRI ในอินโดนีเซียก็ชี้ว่าท่าทีที่กลับไปกลับมาของหลายประเทศได้สร้างความสับสนว่าเจตนาที่แท้จริงของคำประกาศจากผู้นำเหล่านี้คืออะไร

และถึงแม้มาเลเซียกับอินโดนีเซียจะพยายามลดการสูญเสียพื้นที่ป่าลง แต่อีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ อย่างเช่น กัมพูชา ที่ยังคงเสียพื้นที่ป่าในปีที่ผ่านมา ส่วนลาวก็เสียพื้นที่ป่าเพิ่มติดต่อกัน 2 ปีโดยมีการเสียพื้นที่ป่ามากที่สุดในปีที่แล้วด้วย

และจากผลการวิจัยที่แสดงว่าพื้นที่ป่าเขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญ Arief Wijaya จาก WRI ได้เตือนว่า แถบแนวป่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้มีบทบาทสำคัญต่อภาวะภูมิอากาศของโลก ต่ออุณหภูมิและต่อการดูดซับก๊าซคาร์บอนด้วย ดังนั้น จึงไม่ควรมีประเทศหนึ่งประเทศใดในภูมิภาคนี้ที่จะละเลยเรื่องการลดการสูญเสียพื้นที่ป่าและทุกประเทศควรมุ่งหน้าเพื่อจัดการผืนป่าของตนให้มีความยั่งยืน

XS
SM
MD
LG