ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รัสเซียเผชิญปัญหา ‘สมองไหล’ เมื่อแรงงานด้านเทคโนโลยีทยอยย้ายประเทศ


FILE - A woman walks near the Kremlin and St. Basil's Cathedral in central Moscow, Russia, Feb. 22, 2022.
FILE - A woman walks near the Kremlin and St. Basil's Cathedral in central Moscow, Russia, Feb. 22, 2022.

รัสเซียประสบปัญหา ‘สมองไหล’ เมื่อแรงงานด้านเทคโนโลยีของรัสเซียกำลังมองหาทางย้ายประเทศเพื่อไปทำงานในที่ปลอดภัยและมั่นคงกว่า ซึ่งในวิกฤตนี้กลับเป็นโอกาสของหลายประเทศในการดึงผู้มีศักยภาพสูงด้านเทคโนโลยีเข้าสู่กำลังแรงงานในประเทศ

มีการคาดการณ์ว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์จำนวนมากถึง 70,000 คน รู้สึกตื่นตระหนกกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและบรรยากาศทางการเมืองตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เล็งเห็นถึงปรากฏการณ์สมองไหลแม้ในสภาวะตึงเครียดในยามสงครามกับยูเครน ซึ่งทำให้ผู้คนมากกว่า 4 ล้านคนต้องหนีออกจากยูเครน และยังทำให้ผู้คนอีกนับล้านต้องพลัดถิ่นฐานภายในประเทศ ตามรายงานของหน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ

เมื่อเดือนมีนาคม ปธน. ปูติน มีมาตรการเพื่อแก้ปัญหาคลื่นอพยพย้ายประเทศของผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีรัสเซียในครั้งนี้ ด้วยการอนุมัติกฎหมายยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับบุคคลที่ทำงานในบริษัทเทคโนโลยี ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงปี 2024

อย่างไรก็ตาม แรงงานด้านเทคโนโลยีของรัสเซียที่พลัดถิ่นฐานบางคน กล่าวว่า พวกเขาไม่ได้รีบร้อนที่จะกลับบ้าน ขณะที่มีบางกลุ่มซึ่งได้สิทธิ์ถือครองวีซ่าของสหภาพยุโรปต่างย้ายไปอยู่ในประเทศโปแลนด์หรือกลุ่มประเทศบอลติกอย่างลัตเวียและลิทัวเนียกันแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีแรงงานรัสเซียจำนวนมากย้ายถิ่นไปยังประเทศที่ไม่ต้องใช้วีซ่า อย่างเช่น อาร์เมเนีย และจอร์เจีย ซึ่งในช่วงเวลาปกตินั้น แรงงานที่มีทักษะน้อยหลายล้านคนจะอพยพจากประเทศที่มีเศรษฐกิจสั่นคลอนมายังรัสเซียซึ่งมีความมั่งคั่งกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มนี้

อนาสตาเซีย (Anastasia) นักวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ วัย 24 ปี จากเมืองโนโวซีบีร์สค์ในไซบีเรีย เลือกที่จะย้ายไปประเทศคีร์กีซสถานซึ่งครอบครัวของสามีเธออาศัยอยู่ที่นั่น

เธอเล่าว่า เมื่อทราบข่าวสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนปะทุขึ้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ เธอและสามีคิดว่า น่าจะถึงเวลาที่ต้องย้ายออกจากประเทศ และในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ทั้งสองได้ซื้อตั๋วและออกเดินทางในทันที

อนาสตาเซีย ปฏิเสธที่จะเปิดเผยตัวตน เหมือนกับแรงงานชาวรัสเซียคนอื่นๆ ที่ได้รับการติดต่อจากสำนักข่าวเอพีเพื่อพูดคุยในเรื่องนี้ เนื่องจากมาตรการปราบปรามผู้ที่เห็นต่างของรัฐบาลมอสโกที่มีขึ้นตั้งแต่ก่อนเหตุบุกรุกรานยูเครน และผู้คนที่อาศัยอยู่นอกรัสเซียต่างยังคงหวาดกลัวที่จะถูกทำร้ายด้วย

อนาสตาเซียเล่าต่อไปว่า เธอหนีออกนอกประเทศหนึ่งวันก่อนทางการรัสเซียเริ่มต้นค้นหาและสอบปากคำผู้คนตามชายแดนของประเทศ และว่าช่วงที่ผ่านมามีแต่บรรยากาศแห่งความหวาดกลัวอยู่รอบตัวเสมอ เวลาที่ผู้คนออกมาแสดงความเห็นของตัวเอง อีกทั้งภาวะสงครามและกระแสแนวคิดรักชาติในรัสเซียยิ่งทำให้สภาพแวดล้อมยิ่งดูน่ากลัว

ทั้งนี้ ภาวะสมองไหลของรัสเซียที่ชัดเจน ได้รับการเปิดเผยปลายเดือนมีนาคมโดย เซอร์เกย์ พลูทาเรนโก (Sergei Plugotarenko) หัวหน้าสมาคม Russian Association for Electronic Communications ซึ่งเป็นกลุ่มล็อบบี้ด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

พลูทาเรนโก เปิดเผยกับคณะกรรมาธิการของรัฐสภารัสเซียว่า คลื่นอพยพลูกแรก มีจำนวน 50,000-70,000 คน ได้เดินทางออกจากประเทศไปแล้ว ซึ่งแม้ว่าราคาเที่ยวบินออกนอกประเทศจะมีราคาสูงจนอาจทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ แต่เขาคาดว่า จะมีแรงงานด้านเทคโนโลยีอีก 100,000 คนเตรียมเดินทางออกจากรัสเซียในเดือนเมษายนนี้

ภายใต้วิกฤตสมองไหลของรัสเซียนี้กลับเป็นโอกาสสำหรับบางประเทศ ในการเพิ่มศักยภาพและโอกาสที่จะดึงผู้มีทักษะด้านเทคโนโลยีเข้ามาสู่อุตสาหกรรมไฮเทคในประเทศของตนเอง

รายงาน Global Skills Index เมื่อ 2020 ที่เผยแพร่โดย Coursera ผู้ให้บริการหลักสูตรออนไลน์ชั้นนำ พบว่า ชาวรัสเซียได้คะแนนสูงสุดในด้านทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งประเทศใกล้เคียงบางประเทศต้องการที่จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในเรื่องนี้

ทันทีที่สงครามเริ่มขึ้นในยูเครน ประเทศในแถบเอเชียกลางอย่างอุซเบกิสถาน ได้ปรับกระบวนการขอวีซ่าทำงานและใบอนุญาตพำนักอยู่ในประเทศสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านไอที ให้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกประเทศที่ต้องการแสวงหาประโยชน์ในเรื่องนี้

อิงกา ซิเมนิแอต (Inga Simanonyte) ที่ปรึกษาของกระทรวงเศรษฐกิจและนวัตกรรมของกลุ่มประเทศบอลติก กล่าวว่า ลิทัวเนียจะไม่ร่วมงานกับบริษัทสัญชาติรัสเซีย ที่อาจย้ายเข้ามาที่ประเทศลิทัวเนีย และทางกระทรวงยังได้ระงับการยื่นขอวีซ่าสตาร์ทอัพทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์แล้ว

ทั้งนี้ ความกังวลด้านความปลอดภัยและเกรงว่าชาวรัสเซียอาจจะสอดแนมหรือมีส่วนร่วมในการก่อกวนทางไซเบอร์ในต่างประเทศ ทำให้รัฐบาลหลายๆ ประเทศต้องระมัดระวังในการที่จะต้อนรับผู้ลี้ภัยด้านเศรษฐกิจจากรัสเซียด้วยเช่นกัน

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG