ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิเคราะห์เชื่อว่าผู้นำทหารพม่า กำลังพยายามครอบครองผลการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน


นักวิเคราะห์ระบุว่าการปรับโครงสร้างทางการทหารของพม่าและการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งล่าสุด มีเป้าหมายเพื่อรับรองว่าผู้นำกองทัพพม่าจะสามารถรักษาอำนาจทางการเมืองต่อไปได้หลังการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 พฤศจิกายน

การปรับโครงสร้างทางการทหารของพม่าครั้งล่าสุด ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของกองทัพพม่ามากกว่า 70 คน นับเป็นความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในหมู่สมาชิกรัฐบาลทหารพม่าครั้งที่ 2 ในปีนี้ โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 27 เมษายน เจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนรวมทั้งนายกรัฐมนตรีพม่า พลเอกเต็ง เส่ง ประกาศลาออกจากตำแหน่งทางการทหารและคาดว่าจะเข้าร่วมในพรรคสหภาพเอกภาพและการพัฒนา Union Solidarity and Development Party หรือ USDP ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 พฤศจิกายน ซึ่งคุณ Carl Thayer นักวิเคราะห์ด้านการป้องกันประเทศจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ New South Wales กล่าวว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้คือส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของกองทัพพม่าเพื่อรวมศูนย์อำนาจทางการทหารและการเมือง

คุณ Thayer วิเคราะห์ว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงทางทหารที่ลาออกจะเข้าร่วมกับ USDP เพื่อลงชิงชัยในการเลือกตั้ง และการที่ USDP ควบรวมกับ Union Solidarity and Development Association ที่มีสมาชิกเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาล 27 ล้านคน ก่อให้เกิดเป็นองค์กรใหญ่มหึมา เมื่อประกอบกับกฎเกณฑ์ควบคุมการเลือกตั้งที่เข้มงวดจึงเชื่อได้ว่าพรรค USDP ที่มีทหารหนุนหลังจะชนะการเลือกตั้งอย่างแน่นอน

มีพรรคการเมืองมากกว่า 40 พรรคลงทะเบียนเข้าร่วมในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่พรรคฝ่ายค้านสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยซึ่งนำโดยนางออง ซาน ซูจี ได้ประกาศคว่ำบาตรด้วยการไม่เข้าร่วมการเลือกตั้งเพื่อประท้วงกฎเกณฑ์ที่กีดกันเธอและผู้นำพรรคอีกหลายคนไม่ให้ร่วมการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม คุณ Carl Thayer เชื่อว่าในที่สุดแล้ว พลเอกอาวุโสตาน ฉ่วย จะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีพม่าเมื่อการเลือกตั้งสิ้นสุดลง

นักวิเคราะห์ผู้นี้ให้ความเห็นว่าการปกครองของพม่าภายหลังการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนน่าจะมีรูปแบบไม่ต่างจากอินโดนีเซียภายใต้การปกครองแบบระเบียบใหม่ของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต้เมื่อช่วง 40-50 กว่าปีก่อน ซึ่งรัฐบาลทหารมีบทบาทหลักในการควบคุมกลุ่มองค์กรทางการเมืองและสังคม นอกจากนี้ยังเฝ้าตรวจตราความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม นโยบายระเบียบใหม่ของประธานาธิบดีซูฮาร์โต้เสื่อมความนิยมลงไปเนื่องจากปัญหาการเล่นพรรคเล่นพวกและการคอรัปชั่น

อีกด้านหนึ่ง โฆษกหญิงขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ASEAN Network คุณ Debbie Stothardt ระบุว่า บรรดากลุ่มสิทธิมนุษยชนและประชาคมโลกต่างประกาศไม่ยอมรับการเลือกตั้งในพม่าครั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพียงความพยายามของรัฐบาลทหารพม่าเพื่อสร้างความชอบธรรมทั้งในสายตาต่างชาติและประชาชนชาวพม่าเอง

ที่ผ่านมา ทหารพม่าอ้างเหตุผลในการปกครองประเทศว่าเพื่อควบคุมชนกลุ่มน้อยและพวกแบ่งแยกดินแดนที่มีมากมายหลายกลุ่มรวมไว้ด้วยกัน แต่รัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐ กำหนดมาตรการลงโทษพม่าสืบเนื่องจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษชนและการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ล่าสุดรัฐบาลสหรัฐได้สนับสนุนให้มีการตรวจสอบรัฐบาลทหารพม่าในข้อกล่าวหาเรื่องอาชญากรสงครามและผู้ก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษย์ด้วยแล้ว

XS
SM
MD
LG