ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์: ความตึงเครียดจีน-ฟิลิปปินส์ บททดสอบสหรัฐฯ และการเมืองโลกที่ร้อนระอุ


เรือฟิลิปปินส์เเล่นเข้าใกล้เรือตรวจการณ์ยามฝั่งของจีน วันที่ 22 ต.ค. 2566
เรือฟิลิปปินส์เเล่นเข้าใกล้เรือตรวจการณ์ยามฝั่งของจีน วันที่ 22 ต.ค. 2566

ความตึงเครียดร้อนระอุขึ้นอีกครั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุเรือของจีนและฟิลิปปินส์ชนกันใกล้เขตสันดอน 'เซคันด์ โธมัส โชล' (Second Thomas Shoal) ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาททางทะเลของทั้งสองประเทศ

เรือของฝ่ายทางการมะนิลากำลังปฏิบัติภารกิจเดิมเสบียงให้กับ เรือรบเก่าหลายสิบปีสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ชื่อ 'เซียร์รา มาเดร' โดยทางการฟิลิปปินส์ จงใจที่จะจอดเรือลำนี้ไว้ใกล้สันดอน เปรียบเสมือนการปักหมุดยืนยันสิทธิ์

ทั้งจีนและฟิลิปปินส์ออกเเถลงการณ์ที่ยืนยันสิทธิ์ของฝ่ายตน รัฐบาลมะนิลาเรียกสันดอนดังกล่าวว่า 'อะยุนกิน' (Ayungin) ส่วนรัฐบาลปักกิ่งเรียกว่า 'เหริน ไอ่ จ้าว' (Ren’ai Jiao)

นักวิเคราะห์บางรายกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งต่อเนื่องจากการเผชิญหน้ากันหลายครั้งของทั้งสองประเทศเป็นเวลาหลายเดือน สะท้อนว่าจีนยกระดับความเเข็งกร้าว ในจังหวะที่สหรัฐฯ แบ่งความสนใจไปที่สงครามในยูเครนและล่าสุดในตะวันออกกลาง

ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายกลาโหม คอลลิน โคห์ แห่งสถาบัน S. Rajaratnam School of International Studies กล่าวกับวีโอเอทางโทรศัพท์ว่า "จีน อาจจะรับรู้ได้ถึงโอกาสที่สามารถทดสอบสหรัฐฯ ว่าจะสามารถช่วยฟิลิปปินส์ต้านทานจีนระดับไหนในทะเลจีนได้ เมื่อสหรัฐฯ กำลังมีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญในตะวันออกกลาง"

หน่วยงานยามฝั่งฟิลิปปินส์แสดงภาพเหตุการณ์กระทบกระทั่งระหว่างเรือฟิลิปปินส์และเรือจีน วันที่ 23 ต.ค. 2566
หน่วยงานยามฝั่งฟิลิปปินส์แสดงภาพเหตุการณ์กระทบกระทั่งระหว่างเรือฟิลิปปินส์และเรือจีน วันที่ 23 ต.ค. 2566

หากย้อนไปเมื่อเดือนสิงหาคม ฟิลิปปินส์กล่าวหาเรือจีนลำหนึ่งว่ายิงน้ำความดันสูงระหว่างที่เรือฟิลิปปินส์เติมเสบียงให้กับเรือรบ 'เซียร์รา มาเดร'

นอกจากนั้น ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาในเดือนตุลาคม ก็เกิดการเผชิญหน้ากันที่สันดอนเซคันด์ โธมัส ในครั้งนั้นมีรายงานว่าฝ่ายฟิลิปปินส์ปลดเเนวกั้นที่เรือจีนใช้ขวางเอาไว้

เมื่อวิเคราะห์ถึงวิธีการที่ฟิลิปปินส์เผยเเพร่ภาพการเผชิญหน้ากัน เรย์ เพาเวลล์ แห่งศูนย์ Gordian Knot Center for National Security Innovation ที่มหาวิทยาลัยสเเตนฟอร์ดกล่าวว่ายุทธวิธีการสื่อสารต่อประชาคมโลกของฟิลิปปินส์ ทำให้นานาชาติ ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลมะนิลามากขึ้น

เพาเวลล์กล่าวกับวีโอเอทางโทรศัพท์ว่า "ในตอนนี้สหรัฐฯ พูดอย่างต่อเนื่องถึงสนธิสัญญาด้านความมั่นคงระหว่างกันเมื่อต้องกล่าวถึงประเด็นทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก"

เขากล่าวว่ารัฐบาลโลกตะวันตกที่ให้การสนับสนุนฟิลิปปินส์ยังได้ผลักดันให้เกิดผลที่จับต้องได้ในบางครั้ง เช่น งานลาดตระเวณทางทะเลร่วมกัน

South China Sea map
South China Sea map

และเมื่อเกิดเหตุเรือจีนและฟิลิปปินส์ชนกันเมื่อวันอาทิตย์ สหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลียต่างออกแถลงการณ์ประณามจีน โดยฝ่ายรัฐบาลอเมริกันระบุว่าเรือยามฝั่งของจีน "ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ"

คอลลิน โคห์ กล่าวว่าต่อจากนี้สหรัฐฯ อาจจะต้องสานต่องานกับฟิลิปปินส์เพื่อให้เกิดผลเชิงรูปธรรมไม่เช่นนั้นจีนอาจจะเข้าใจว่าสามารถเพิ่มเเรงกดดันฟิลิปปินส์ได้ต่อ จนกว่ากว่าจะทราบว่าระดับใดคือเข้าขั้นล้ำเส้นสำหรับสหัฐฯ

อย่างไรก็ตาม โคห์ ไม่คิดว่ารัฐบาลปักกิ่งเตรียมที่จะใช้กำลังทางทหารกับฟิลิปปินส์

เขาไม่ถือว่าการขับเรื่องพุ่งเข้าไปปะทะ หรือการฉีดนำ้เเรงดันสูงคือการยกระดับความตึงเครียบแบบเต็มขั้น เพราะเป็นวิธีที่เห็นอยู่บ่อย ๆ

แต่ทั้งนี้ การกระทำใด ๆ ของทางการจีนจะขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาที่เห็นจากฝ่ายรัฐบาลกรุงวอชิงตันก่อน โคห์กล่าวปิดท้าย

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG