ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อเมริกันในไทยวอนรัฐบาลสหรัฐฯ ส่ง 'ไฟเซอร์-โมเดอร์นา-จอห์นสัน' ข้ามฟ้าตรงถึงมือ


Paul Risley, chair of Democrats Abroad Thailand, talks to VOA about the group's appeal to the U.S. government to provide U.S. FDA-approved Covid-19 vaccines for U.S. citizen overseas.
Paul Risley, chair of Democrats Abroad Thailand, talks to VOA about the group's appeal to the U.S. government to provide U.S. FDA-approved Covid-19 vaccines for U.S. citizen overseas.
American Expats Request US Vaccines
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:39 0:00


การระบาดครั้งใหม่ของโควิด-19 ในประเทศไทยตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ประกอบกับตัวเลือกวัคซีน และอัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กลุ่มคนอเมริกันที่อาศัยอยู่ในไทยออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ จัดส่งวัคซีนมาให้พวกเขาและชาวอเมริกันต่างแดน 9 ล้านคนทั่วโลก

คำถามที่ว่าเมื่อไหร่จะได้ฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นข้อสงสัยที่ไม่ได้มีเพียงแต่คนไทยเท่านั้นที่กำลังรอคอยคำตอบ แต่ยังเป็นแรงผลักดันให้ชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยออกมาเคลื่อนไหว หวังให้รัฐบาลของพวกเขาที่อยู่ไกลถึงกรุงวอชิงตันออกมาให้คำตอบ

ในขณะที่ประเทศไทยตั้งเป้าฉีดวัคซีนระยะที่สองให้กับประชาชนทั่วไปในเดือนมิถุนายนนี้ ด้วยวัคซีนของแอสตราเซเนกา และซิโนแวค ชาวอเมริกันในไทยได้เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ จัดส่งวัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค โมเดอร์นา และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ FDA มาให้กับคนอเมริกันที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย

"ผมคิดว่าคนอเมริกันที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ รู้สึกเป็นกังวลมาก เช่นเดียวกับคนไทย และอยากจะได้รับการฉีดวัคซีน" พอล ริสลีย์ (Paul Risley) ชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมาเป็นเวลา 15 ปี ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอไทย

Paul Risley, chair of Democrats Abroad Thailand, held a video meeting with member of the group to discuss its campaign to urg the U.S. government to provide Covid-19 vaccines for U.S. citizens in Thailand.
Paul Risley, chair of Democrats Abroad Thailand, held a video meeting with member of the group to discuss its campaign to urg the U.S. government to provide Covid-19 vaccines for U.S. citizens in Thailand.

"เราต้องการให้สหรัฐอเมริกาช่วยเหลือประเทศไทย และทุก ๆ ประเทศที่ยังต้องเผชิญกับภัยโควิด-19 อยู่ ในขณะเดียวกันเราก็อยากให้สหรัฐฯ ช่วยจัดส่งวัคซีนมาให้คนอเมริกันที่ใช้ชีวิตอยู่ต่างแดน ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับโครงการฉีดวัคซีนในสหรัฐฯ ที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและน่าชื่นชมมาก ๆ"

นอกจากจะมีงานประจำเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์การสหประชาชาติ พอล ยังเป็นประธานของ เดโมแครตส์ อะบรอด ไทยแลนด์ (Democrats Abroad Thailand) กลุ่มชาวอเมริกันในประเทศไทยที่ให้การสนับสนุนพรรคเดโมแครต ที่ทำหน้าที่เป็นแกนนำในการรณรงค์เรียกร้องขอวัคซีนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในครั้งนี้

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่ม Democrats Abroad Thailand ยังได้ร่วมกับ Republicans Overseas Thailand ที่ปกติอยู่คนละขั้วการเมือง กลุ่มทหารผ่านศึก และกลุ่มสตรีอเมริกัน ในการลงนามในจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ นาย แอนโทนี บลิงเคน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ทำตามพันธสัญญาที่จะจัดสรรวัคซีนให้ “all Americans” หรือ “อเมริกันทุกคน”

Members of Democrats Abroad Thailand's Covid-19 vaccine task force holds a weekly meeting on Zoom.
Members of Democrats Abroad Thailand's Covid-19 vaccine task force holds a weekly meeting on Zoom.

ในจดหมาย พวกเขายังระบุด้วยว่า ไทยเหมาะที่จะเป็นประเทศแรกที่รัฐบาลอเมริกันจะทดลองจัดส่งและฉีดวัคซีนให้กับชาวอเมริกันหลายหมื่นคนที่อาศัยอยู่ที่นี่ เพราะไทยมีความพร้อมด้านสาธารณสุข มีโรงพยาบาลเอกชน และมีหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ จำนวนมาก ซึ่งหากประสบความสำเร็จ กรุงวอชิงตันสามารถนำเอาโมเดลนี้ ไปใช้ในประเทศอื่น เพื่อช่วยเหลือชาวอเมริกันต่างแดนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน

"ชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนเช่นเดียวกับคนอเมริกันในสหรัฐฯ เพราะวัคซีนเป็นหนทางเดียวที่จะหยุดยั้งการระบาดของโควิด-19 ได้" พอลกล่าว

ก่อนหน้านี้ ความไม่ชัดเจนว่าชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจะได้ฉีดวัคซีนหรือไม่ และเมื่อไหร่นั้น ได้สร้างความกังวลใจไม่น้อยให้กับชาวต่างชาติที่มีอยู่ประมาณ 3 ล้านคน จนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อธิบดีกรมควบคุมโรคได้ออกมายืนยันว่าทุกคนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย ล้วนมีสิทธิได้รับวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นคนสัญชาติใดก็ตาม

คำยืนยันดังกล่าว ช่วยคลายความกังวลใจให้ชาวต่างชาติได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ชาวอเมริกันหลายคนมองว่าที่พวกเขาออกมาเรียกร้องนั้น เพราะเห็นว่าในฐานะพลเมืองอเมริกัน รัฐบาลสหรัฐฯ ควรดูแลพวกเขาไ่ม่ต่างจากชาวอเมริกันในประเทศ

"พวกเรายังจ่ายภาษี เรายังเป็นพลเมืองอเมริกัน แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ดูเหมือนว่าจะไม่ทำอะไรให้กับพลเมืองอเมริกันที่ออกไปอาศัยอยู่ประเทศอื่น ซึ่งมันทำให้พวกเราหลายคนอึดอัดใจมาก" โจ ผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยนามสกุล กล่าวกับวีโอเอไทย อดีตอาจารย์วิทยาลัยชุมชนในรัฐแคลิฟอร์เนียผู้นี้ ปัจจุบันใช้ชีวิตหลังเกษียณในไทย ด้วยการเขียนหนังสือและศึกษาพุทธศาสนา

Vials with Pfizer-BioNTech and Moderna coronavirus disease (COVID-19) vaccine labels are seen in this illustration picture taken March 19, 2021.
Vials with Pfizer-BioNTech and Moderna coronavirus disease (COVID-19) vaccine labels are seen in this illustration picture taken March 19, 2021.

ขณะนี้ หนทางเดียวที่ชาวอเมริกันจะได้รับวัคซีนของ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา หรือ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน คือต้องบินกลับไปฉีดวัคซีนที่อเมริกาเท่านั้น แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่คนอเมริกันทุกคนทำได้ เนื่องด้วยข้อจำกัดทางเวลา สุขภาพ และงบประมาณ

"ผมจะต้องใช้เงินเยอะมากที่จะไปอเมริกา แล้วก็ต้องไปอยู่ที่นั่นนานพอที่จะได้รับวัคซีนสองโดส จากนั้นก็ต้องรอว่าจะได้รับอนุญาตจากทางการไทยให้กลับเข้ามาในไทยหรือไม่ ซึ่งก็ต้องขออนุญาต แล้วหลังจากนั้นก็ต้องกักตัวอีกสองสัปดาห์ ผมไม่คิดว่าผมจะอยากเสียค่าใช้จ่ายและเวลา และมาเป็นธุระขนาดนั้นเพื่อไปฉีดวัคซีน"

ที่สำคัญ ชาวอเมริกันในไทยหลายคนมองว่า สหรัฐฯ อยู่ในสถานะที่จะช่วยเหลือพลเมืองของตนในต่างแดน และประเทศอื่น ๆ ที่มีความต้องการวัคซีนอย่างเร่งด่วนได้ เพราะมีการคาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะมีวัคซีนเหลือใช้หลายล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ อีกทั้งยังมีประชากรอเมริกันอายุ 18 ปีขึ้นไปกว่า 43% ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ตามข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือ CDC

นอกจากนี้ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ยังได้จัดส่งวัคซีนโควิด-19 ให้กับพนักงานของกระทรวง รวมถึงสถานทูตสหรัฐฯ ที่อยู่ประจำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และคาดว่าพนักงานทุกคนจะได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

แต่โครงการฉีดวัคซีนดังกล่าว กลับไม่ได้รวมพลเมืองอเมริกันที่อยู่ในต่างประเทศเข้าไว้ด้วย

นิกกี ฟ็อกซ์ โฆษกประจำสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย บอกกับวีโอเอไทยผ่านทางอีเมล์ว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ไม่มีบริการให้การรักษาทางการแพทย์โดยตรงกับพลเมืองอเมริกันต่างแดน และแนะนำให้ชาวอเมริกันตรวจสอบกับประเทศที่อาศัยอยู่ว่าพวกเขาสามารถรับวัคซีนได้หรือไม่

Kim Atkinson, who came to Thailand in the 1960s as a Peace Corps volunteer, supports calls for the U.S. government to provide approved vaccines to American abroad.
Kim Atkinson, who came to Thailand in the 1960s as a Peace Corps volunteer, supports calls for the U.S. government to provide approved vaccines to American abroad.

คิม แอตคินสัน ชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในไทยมาหลายสิบปี กล่าวว่าการระบาดของโควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก เป็นสถานการณ์ที่ไม่ธรรมดา เขาจึงคิดว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มีหน้าที่ที่จะต้องดูแลชาวอเมริกันโพ้นทะเลด้วย

"เพราะก็เห็น ๆ อยู่่ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ฉีดวัคซีนให้กับเจ้าหน้าที่และพนักงาน (สถานทูต) แล้วทำไมถึงต้องแบ่งแยกกันระหว่าง (ชาวอเมริกันต่างแดน) และเจ้าหน้าที่สถานทูตที่มีหน้าที่ทำงานเพื่อพลเมืองอเมริกัน และได้รับเงินเดือนที่มาจากภาษีของคนอเมริกัน"

นอกจากนี้ ชาวอเมริกันที่วีโอเอไทยสัมภาษณ์ ยังกล่าวตรงกันว่าพวกเขาต้องการได้รับวัคซีนของ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เพราะเป็นสามวัคซีนที่สหรัฐฯ รับรองแล้วว่ามีประสิทธิภาพต้านโควิด-19 ซึ่งขณะนี้วัคซีนดังกล่าว ยังไม่มีการนำเข้ามาในประเทศไทย

"สามีของผมเป็นโรคเบาหวาน ส่วนผมก็มีภูมิคุ้มกันต่ำ เพราะฉะนั้น เราจะฉีดวัคซีนตัวใดนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก" อเล็ค โกลด์แมน นักการศึกษาชาวอเมริกันที่แต่งงานกับชายไทยและอาศัยอยู่ในไทยมาเป็นเวลากว่าสิบปีแสดงความกังวลถึงผลหรืออาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวหรืออาการทางสุขภาพอย่างตัวเอง

Alec Goldman is an American educator and a co-founder of a personalized learning startup based in Bangkok, Thailand.
Alec Goldman is an American educator and a co-founder of a personalized learning startup based in Bangkok, Thailand.

อเล็คยังบอกว่า การที่มีไวรัสกลายพันธุ์แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ เช่น สายพันธุ์อังกฤษ และสายพันธุ์ที่ระบาดในอินเดียที่คร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก ยิ่งทำให้เขาต้องการวัคซีนที่ผ่านการพิสูจน์จากสหรัฐฯ และหน่วยงานด้านสุขภาพสากลอื่น ๆ แล้วว่ามีโอกาสต้านทานไวรัสกลายพันธุ์ได้สูง

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม วารสารการแพทย์ชื่อดังอย่าง ‘นิว อิงแลนด์ เจอร์นัล ออฟ เมดิซีน’ (New England Journal of Medicine) และ ‘แลนเซต’ (Lancet) เผยผลการวิจัยเพิ่มเติม ที่พบว่าวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค มีประสิทธิภาพอย่างมากในการต่อต้านไวรัสกลายพันธ์ุอันตราย 2 สายพันธ์ุได้แก่ B.1.1.7 ซึ่งพบครั้งแรกในอังกฤษ และ B.1.351 ซึ่งพบในแอฟริกาใต้

ในขณะที่บริษัท โมเดอร์นา เปิดเผยในวันเดียวว่า วัคซีนกระตุ้น (booster shot) ของบริษัท ซึ่งจะฉีดเป็นเข็มที่ 3 หลังจากฉีดสองโดสแรกไปแล้วประมาณ 6-8 เดือน จะสามารถกระตุ้นสร้างภูมิต้านทานเพื่อปกป้องร่างกายจากไวรัสายพันธุ์แอฟริกาใต้ และสายพันธุ์อื่น ๆ ที่พบได้ในบราซิล

เป็นที่น่าจับตาดูว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะมีท่าทีอย่างไรต่อการเคลื่อนไหวขอวัคซีนของชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในไทย และในประเทศอื่น ๆ ที่รวมแล้วมีกว่า 9 ล้านคน ท่ามกลางเสียงวิจารณ์การกักตุนวัคซีน และแรงกดดันจากนานาชาติ ที่เรียกร้องให้สหรัฐฯ ช่วยเหลือประเทศที่ต้องการวัคซีนอย่างเร่งด่วน และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนระหว่างประเทศร่ำรวยและยากจน

XS
SM
MD
LG