ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รายงานการพัฒนาโลกปี 2010 ระบุว่าประเทศกำลังพัฒนา จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด


2 ใน 3 ของปริมาณก๊าซที่เชื่อกันว่า เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อน ถูกปล่อยมาจากบรรดาประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว แต่จากรายงานการพัฒนาโลกปี 2010 ระบุว่าประเทศกำลังพัฒนา จะเป็นฝ่ายได้รับผลกระทบมากที่สุด จากภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพบรรยากาศโลกเปลี่ยนแปลง

รายงานของธนาคารโลกชิ้นนี้จึงชี้ว่า ประเทศพัฒนาแล้ว ควรเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติต่างๆ ไม่ใช่ประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจน

รายงานการพัฒนาโลกปี 2010 ของธนาคารโลกระบุว่า ภายในปี 2030 ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกจะต้องการเงินทุนราว 75,000 ล้านดอลล่าร์ต่อปี เพื่อรับมือกับผลกระทบ จากสภาพบรรยากาศโลกเปลี่ยนแปลง ในจำนวนนี้ 400 ร้อยล้านดอลล่าร์จะนำไปใช้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติต่างๆ และอีกหลายพันล้านดอลล่าร์ จะใช้ไปในการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงาน คุณ Rosina Bierbaum ผู้ร่วมจัดทำรายงานชิ้นนี้กล่าวว่า การบรรเทาผลกระทบจากสภาพบรรยากาศโลกเปลี่ยนแปลงนั้น ควรมุ่งเน้นไปที่ประเทศกำลังพัฒนา โดยประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้บริจาคเงินทุน

คุณ Bierbaum แห่งสถาบันทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยมิชิแกนชี้ว่า ประเทศพัฒนาแล้วควรเป็นผู้ให้เงินทุนทั้งจากภาครัฐ และเอกชนเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา แต่หากขาดความร่วมมือ ค่าใช้จ่ายในด้านนี้จะเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า ซึ่งนั่นจะยิ่งทำให้โอกาสแก้ไขปัญหาโลกร้อนยิ่งห่างไกลความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ในภาวะเศรษฐกิจซบเซาเช่นนี้ คุณ Bierbaum เชื่อว่าการระดมทุนนั้นเป็นเรื่องยากยิ่ง ดังนั้นการที่ประเทศต่างๆ พยายามใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงเป็นการช่วยแก้ไขภาวะโลกร้อนไปในตัว โดยเฉพาะในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน

คุณ Bierbaum บอกว่า รัฐบาลประเทศต่างๆ ใช้เงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจรวมแล้วประมาณ 4 แสนล้านดอลล่าร์ ในจำนวนนี้ราวครึ่งหนึ่ง ใช้ไปในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ในขณะเดียวกัน รายงานบอกว่าในส่วนของธนาคารโลกเอง ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การให้สินเชื่อเช่นกัน คุณ Kathy Sierra รองประธานฝ่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนของธนาคารโลก ระบุว่าขณะนี้กำลังมีการเพิ่มวงเงิน สำหรับให้กู้ยืมเพื่อใช้ในโครงการด้านพลังงานหมุนเวียน นำกลับมาใช้ใหม่และโครงการประหยัดพลังงานแล้ว และว่าเมื่อปีที่แล้ว ธนาคารโลกได้ให้เงินกู้แก่โครงการด้านพลังงานหมุนเวียน และการประหยัดพลังงานถึง 3,300 ล้านดอลล่าร์ ซึ่งนับว่าสูงสุดเป็นสถิติใหม

ผู้บริหารของธนาคารโลกผู้นี้ยังหวังไว้ด้วยว่า รายงานการพัฒนาโลกปี 2010 จะช่วยให้เกิดการถกเถียงด้านพลังงานมากขึ้น และส่งผลต่อการเจรจาเรื่องสภาพบรรยากาศโลก โดยในเดือนธันวาคมนี้ที่กรุงโคเปนเฮเก้น ประเทศเดนมาร์ก จะมีการประชุมเพื่อหารือเรื่องสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่จะนำมาใช้แทนพิธีสารเกียวโต ซึ่งจะหมดอายุลงในอีก 3 ปีข้างหน้า



XS
SM
MD
LG