ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สมาคม ASEAN แสดงความผิดหวังที่นางออง ซาน ซู จี ถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านอีกต่อไป


บรรดาประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN ซึ่งพม่าเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ต่างแสดงความผิดหวังอย่างยิ่งที่นางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านในพม่า ถูกพิพากษาลงโทษกักบริเวณอยู่กับบ้านต่อไปอีก และขณะที่รัฐบาลของประเทศตะวันตกทั้งหลายเรียกร้องให้มีการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรพม่าให้หนักขึ้นนั้น นักวิเคราะห์ด้านการเมืองหลายคนกล่าวว่า มีทางเลือกที่พอทำได้อยู่ไม่กี่อย่างที่จะทำให้รัฐบาลทหารของพม่า ยอมอ่อนข้อในเรื่องอนาคตของนางอองซานซูจีและอนาคตทางการเมืองของพม่า

เรื่องการที่ทางการพม่า ขยายเวลาการกักบริเวณนางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านออกไปอีก ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาอีกว่า จะทำอย่างไรดีกับรัฐบาลทหารของพม่า ซึ่งเป็นเรื่องที่โลกครุ่นคิดกันมานานแล้ว ในวันพุธ สมาคม ASEAN ซึ่งพม่าเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ออกคำแถลงจากกรุงเทพมหานครแสดง

ความผิดหวังอย่างยิ่ง แต่ ASEAN ก็ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าสมาคมนี้จะยังคงดำเนินนโยบายติดต่อกับพม่าอย่างสร้างสรรต่อไป ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่บรรดาผู้วิพากษ์ตำหนิเห็นว่า เป็นการรับรองความถูกต้องตามกฏหมายของรัฐบาลทหารของพม่า โดยที่ไม่ได้นำไปสู่การปฏิรูปทางการเมืองอย่างเป็นแก่นสารแต่อย่างใด

บรรดารัฐบาลประเทศตะวันตกรวมทั้งสหรัฐ อังกฤษและฝรั่งเศส เรียกร้องให้ทางการพม่าปล่อยนางอองซานซูจีให้เป็นอิสระทันที และพูดกันถึงการใช้มาตรการลงโทษใหม่ ที่หนักกว่าเดิมกับพม่า

ดร. ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการคนสำคัญที่ศูนย์ ASEAN ศึกษาในสิงคโปร์ กล่าวว่า การรคว่ำบาตรของประเทศตะวันตกทุกวันนี้ เกือบไม่มีความหมายอะไร รัฐบาลพม่าทำราวกับว่าสามารถทำอะไรก็ได้อย่างที่ตนต้องการ และว่าพม่ามีความสัมพันธ์อันดีกับจีน อินเดีย และแม้กระทั่งรัสเซีย ประเทศเหล่านี้เป็นผู้ปกป้องแก้ต่างให้พม่า ทั้งในทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ

เป็นที่เห็นกันว่า จีน ซึ่งมีความสนใจแหล่งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในพม่าเป็นพิเศษนั้น มีพลังมากที่สุดที่จะกดดันพม่าให้เปลี่ยนแปลง แต่ทางการจีนดึงตัวออกห่างจากความเกี่ยวข้องใดๆ โดยแถลงในวันพุธขอให้มีการเคารพอธิปไตย ด้านตุลาการของพม่า

บรรดานักวิเคราะห์การเมือง ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า ไม่มีวิธีที่สะดวกง่ายดายในการที่จะผ่อนเพลาการกดขี่ทางการเมืองของพม่า และปรับปรุงสถานภาพของนางอองซานซูจีให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม นโยบายการติดต่อทำงาน เกี่ยวข้องกับพม่ายังคงเป็นยุทธวิธีที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่งในไม่กี่อย่างที่เหลืออยู่

ดร. ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ แสดงทัศนะว่าสมาคม ASEAN อาจก้าวเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ได้ ไม่ใช่เพราะว่า ASEAN จะทำได้ดีกว่าบรรดาประเทศตะวันตก แต่เพราะว่าพม่ามีพันธกรณีอยู่กับสมาคม ASEAN ดร. ปวินคิดว่าฝ่ายต่างๆ คงต้องการให้มีการดำเนินงานผสมผสานกันอย่างเหมาะสมระหว่างการคว่ำบาตรกับการติดต่อทำงานกับพม่า

ผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่งที่สถาบันเอเชียใต้ศึกษา ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์กล่าวว่า ความปรารถนาของพม่า ที่จะเจรจากับองค์การต่างๆ ในภาคพื้นส่วนนี้ อย่างสมาคมเพื่อความร่วมมือส่วนภาคพื้นแอเชียใต้หรือ SARC นั้น เปิดช่องทางสำหรับการผลักดัน และชักจูงให้ทำงานจากประเทศสมาชิกด้วยกัน

อิฟเตการ์ อาเหม็ด เชาดูรี นักวิชาการที่สถาบันเอเชียใต้ศึกษากล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วเชื่อกันว่า การขู่คุกคาม มีแต่จะผลักดันหระบอบทหารของ่พม่า ยิ่งเก็บตัวอยู่ภายใน และไม่ให้ความร่วมมือยิ่งขึ้นไปอีก

การที่รัฐบาลทหารของพม่าตัดสินใจ ให้กักบริเวณนางอองซานซูจีต่อไปนั้น เป็นการทดสอบพันธกรณีของพม่าที่มีต่อกฏบัตรของสมาคม ASEAN ซึ่งกำหนดให้ประเทศภาคีปฏิบัติตามหลักการประชาธิปไตย และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

นางอองซานซูจีถูกตัดสินว่ามีความผิด ฐานละเมิดเงื่อนไขการกักบริเวณ เนื่องจากมีคนต่างชาติคนหนึ่งลอบเข้าไปในบริเวณที่เธออาศัยอยู่ ซึ่งมียามรักษากาณ์เข้มงวดกวดขันโดยไม่ได้รับอนุญาต ทางการพม่าพิพากษาลงโทษกักบริเวณนางอองซานซูจีอีก 18 เดือน ที่ผ่านมานางอองซานซูจีถูกกักบริเวณอยู่กับบ้านเป็นช่วงๆ รวมเป็นเวลา14 ปี

กลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ กล่าวว่า ข้อหานั้น มุ่งที่จะขวางกั้นไม่ให้นางอองซานซูจี และพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยร่วม พรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ชนะการเลือกตั้งครั้งหลังสุดเมื่อปี 2533 แต่ทางการทหารไม่ยอมให้พรรคนี้ จัดตั้งรัฐบาลเข้าบริหารประเทศ

การเลือกตั้งในปีหน้านั้น เป็นไปตามแผนการ "แผนที่เส้นทางสู่ประชาธิปไตย" ที่ทางการพม่าประกาศเมื่อปี 2546 ซึ่งสมาคม ASEAN มีส่วนชักจูงให้มีขึ้น

ดร. ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการที่ศูนย์ ASEAN ศึกษาในสิงคโปร์กล่าวว่า ASEAN กำลังประสพปัญหาที่ว่า แมม้จะชักจูงให้ทางการทหารของพม่า ดำเนินการเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้ แต่ผลอาจไม่เพียงพอ และทุกอย่างก็จะกลับสู่สภาพเดิม



XS
SM
MD
LG