ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิทยาศาสตร์ชี้ สัตว์ใหญ่เลี้ยงลูกด้วยนม เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์


นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมทำการสำรวจตามประเทศต่างๆ และรายงานว่า สัตว์ป่าที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม อย่างน้อยที่สุด ร้อยละ 25 เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

สหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติระหว่างประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ที่สวสเซอร์แลนด์ ประเมินสถานะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วโลก โดยอาศัยความช่วยเหลือของนักวิทยาศาสตร์ 1,700 คนใน 130 ประเทศช่วย โดยใช้เวลาดำเนินการดังกล่าวรวม 5 ปีจึงแล้วเสร็จนั้น ลงความเห็นว่าจำนวนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทั่วโลกลดลงอย่างฮวบฮาบ

โฆษกของสหภาพเคร็ก ฮิลตัน เทย์เลอร์ กล่าวว่าจำเป็นจะต้องมีการดำเนินงานอย่างรีบด่วน

บรรดานักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่นั้น ล่อแหลมต่อการสูญพันธุ์มากที่สุดตามผลของการสำรวจ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบร้อยละ 80 เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ผลการสำรวจแสดงว่า บางเขตของเวียตนามและกัมพูชานั้น ป่ากำลังกลายเป็นที่ว่างเปล่าโดยบรรดาลิงซึ่งเคยมีชุกชุมในบริเวณเหล่านั้นหายสาปสูญไป รายงานระบุว่าสัตว์จำพวกที่มีกระเป๋าที่หน้าท้องคือ แทสเมเนียน เดฟเวิล ที่ออสเตรเลีย และแมวน้ำทางทะเลสาปแคสเปียนทางเอเชียรวมอยู่ในหมู่สัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุด

คุณฌอง คริสโตเฟอร์ วี ผู้เชี่ยวชาญของโครงการชนิดของสกุลพืช แห่งสหภาพข้างต้นกล่าวว่า มนุษย์เป็นคนก่อปัญหาหลายอย่าง

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การที่ถิ่นที่อยู่ของสัตว์และพืชถูกทำลายเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงทั่วเขตร้อนของโลก ซึ่งรวมทั้งการตัดไม้ทำลายป่าในเอเชีย แอฟริกา และทวีปอเมริกา

การล่าสัตว์กำลังก่อให้เกิดผลกระทบใหญ่โตในเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ เช่นกัน

รายงานระบุด้วยว่า ภาวะที่โลกร้อนขึ้นกำลังคุกคามบรรดาหมีขั้วโลก หรือหมีขาว และพืชพันธุ์ต่างๆ ในย่านขั้วโลกเหนือ

โฆษกของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติระหว่างประเทศ เคร็ก ฮิลตัน เทย์เลอร์กล่าวว่า โลกกำลังให้ความสนใจต่ิปัญหาที่กำลังขยายวงออกไปเหล่านี้

บรรดานักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ขณะที่ข่าวเกี่ยวกับการอยู่รอดของสัตว์มีชีวิตของโลกดูมืดมน แต่ก็เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความหวัง รวมทั้งข้อพิสูจน์ที่ว่าโครงการอนุรักษ์ต่างๆ สามารถช่วยพืชและสัตว์บางส่วนได้

ตัวเฟอร์เร็ตที่มีลักษณะคล้ายพังพอน ที่นำมาปล่อยใหม่ในภาคตะวันตกของสหรัฐและเม็กซิโก กำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะที่ม้าป่าซึ่งได้รับการนำไปปล่อยใหม่ในมองโกเลียตอนช่วงต้นคริสทศวรรษที่ 1990 นั้น ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน

XS
SM
MD
LG