ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบต่ออะไรบ้าง?


การที่น้ำมันมีราคาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดโลก กระทบกระเทือนทุกอย่าง ตั้งแต่การขนส่ง เกษตรกรรม ไปจนถึงภาคอุตสากรรม ในสหรัฐ นักการเมืองบางส่วนโทษบริษัทน้ำมันใหญ่ว่าเป็นผู้ก่อปัญหา

แต่ผู้สื่อข่าว Voice Of America เกรก เฟลกัส รายงานมาจากนครฮิวสตันว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานกล่าวว่า บรรดาผู้นำระดับชาติ จำเป็นจะต้องเผชิญรับความจริงที่ว่า อุปสงค์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และน้ำมันสนองความต้องการมีจำกัด

เศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวในจีน อินเดีย และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ คือตัวการที่ขับดัน อุปสงค์เกี่ยวกับน้ำมันให้สูงขึ้น เพราะโรงงานและการขนส่งในประเทศเหล่านั้น ต้องการเชื้อเพลิงเวลาเดียวกัน การที่ชนชั้นกลางในประเทศเหล่านั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้น กำลังทำให้อุปสงค์เกี่ยวกับรถยนต์สูงขึ้น ซึ่งทำให้มีการใช้เชื้อเพลิงมากขึ้น

แต่ตามการศึกษาที่ Baker Institute For Public Policy ของมหาวิทยาลัย ไร๊ซ ที่นคร ฮิวสตัน นำออกเผยแพร่ในสัปดาห์นี้ แสดงให้เห็นว่าอุปสงค์กำลังสูงขึ้นเช่นกันในสหรัฐ เชื้อเพลิงที่ใช้ในการขนส่งในสหรัฐนั้น มีปริมาณร้อยละ 33 ของเชื้อเพลิงที่ใช้กันในโลก และนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียม เกินร้อยละ 50 ของน้ำมันปิโตรเลียมที่ใช้กันในสหรัฐ

อาจารย์ เคนเน็ธ เมดล็อค ผู้เขียนรายงานฉบับนั้นด้วยคนหนึ่ง กล่าวต่อ Voice Of America ว่า การพูดกันเกี่ยวกับเรื่องที่สหรัฐจะไม่ต้องอาศัยใครในเรื่องพลังงานนั้น ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เมื่อคำนึงถึงระดับของอุปสงค์ในขณะนี้

อาจารย์ เคนเน็ธ เมดล็อค กล่าวว่า สหรัฐต้องพึ่งน้ำมันจากต่างประเทศ เพราะน้ำมันที่มีให้ซื้อหาได้ในราคาถูกนั้น ไม่ใช่น้ำมันในสหรัฐ และว่าการพยายามย้ายเข้าไปอยู่ในโลกซึ่งเราไม่ต้องนำเข้าน้ำมันเลยในเวลาอันสั้นมากๆ จะทำให้ราคาของเชื้อเพลิงสูงขึ้นอย่างน่าตื่นตะลึง และเรื่องแบบนั้นไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนต้องการ

รายงานการศึกษาเรื่องนโยบายด้านพลังงานและการขนส่งของสหรัฐ ซึ่งอาจารย์ เคนเน็ธ เมดล็อค และเพื่อนร่วมทีม มายเอ้อร์ส แจฟ ร่วมกันเขียน เรียกร้องให้มีการดำเนินความเพียรพยายามควบคุมอุปสงค์ ควบกันไปกับการเพิ่มการผลิตด้านพลังงาน ไม่ใช่แต่เฉพาะจากน้ำมัน แต่จากแหล่งอื่นๆ รวมทั้งลม แสงอาทิตย์ และเชื้อเพลิงชีวภาพ อาจารย์เมดล็อค แย้งความคิดที่ว่า น้ำมันกำลังจะหมดไปจากโลก แต่กล่าวว่า การที่ค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำมันสูงขึ้นเรื่อยนี้ จะทำให้พลังงานทางเลือกอื่นๆน่าพิศมัยมากยิ่งขึ้นในช่วงอีกหลายปีข้างหน้า

ปัญหาหนึ่งที่นักวิจัย แห่งมหาวิทยาลัยไร๊ซ และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานคนอื่นๆ มองเห็นว่ากำลังเป็นปัญหาใหญ่ในเวลาข้างหน้าได้แก่ เรื่องช่องว่างระหว่างอุปสงค์และปริมาณพลังงานตามแบบที่มีสนองความต้องการ น่าจะถ่างกว้างยิ่งขึ้น ก่อนที่จะสามารถพัฒนาพลังงานทางเลือกได้อย่างสมบูรณ์

นักวิเคราะห์ภาคพลังงานบางส่วนกล่าวว่า ราคาน้ำมันอาจสูงถึง 150 เหรียญสหรัฐ หรือถึง200 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลในช่วงสิบปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้เข้าสู่ยุคแห่งการปันส่วนเชื้อเพลิง และการที่เศรษฐกิจเสื่อมทรามลงอย่างมากทีเดียว คุณสเตอร์ลิง เบอร์เน็ตต์ ผู้ตรวจสอบประเด็นเกี่ยวกับพลังงานให้ National Center for Policy Analysis ที่นครดัลลาส กล่าวว่า เราสามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์แบบนั้นได้ เขากล่าวว่า แทนที่จะลากตัวผู้บริหารของบริษัทน้ำมันมาให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการรัฐสภาอเมริกัน ควรอนุญาติให้บริษัทเหล่านั้นพัฒนาแหล่งน้ำมันสำรองในสหรัฐที่ยังไม่มีใครไปแตะต้องนั้น จะดีกว่า

คุณสเตอลิง เบอร์เน็ตต์กล่าวว่า เราไม่สามารถจะเข้าไปในบริเวณที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าแห่งชาติทางบริเวณขั้วโลกเหนือมานานแล้ว เขากล่าวว่า ตามการกะประมาณอย่างหยาบๆ มีน้ำมัน ให้นำมาใช้ได้ราว หนึ่งหมื่นหกพันล้านบาเรล เขากล่าวต่อไปว่า เราไม่อาจขุดเจาะน้ำมันนอกบริเวณชายฝั่งของสหรัฐมาเป็นเวลานานแล้ว ทั้งๆ ที่พอจะเชื่อแน่ได้ว่า มีน้ำมันอยู่ในบริเวณดังกล่าว หนึ่งแสนล้านบาเรล และว่าถ้าเราสามารถขุดเจาะน้ำมันในทั้งสองที่นั้นได้ สหรัฐจะเป็นประเทศที่มีน้ำมันสำรองมากเป็นอันดับ 4 ของโลกแทนที่จะติดแค่อันดับที่ 11 อย่างในขณะนี้

คุณสเตอร์ลิง เบอร์เน็ตต์ ตำหนิพวกนักการเมืองที่สัญญาว่า จะให้มีนโยบายด้านพลังงานใหม่ในอนาคต ซึ่งจะยึดพลังงานทางเลือกเป็นพื้นฐาน ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกที่ยังมิอาจช่วยให้การใช้น้ำมันในขณะนี้ลดลงได้แม้แต่น้อย เขาตั้งข้อสังเกตุว่า การเน้นเรื่องเชื้อเพลิงชีวภาพ ทำให้ราคาอาหารแพงขึ้น โดยที่ได้พลังงานเพิ่มขึ้นมาเพียงเล็กน้อย คุณสเตอร์ลิง เบอร์เน็ตต์ กล่าวว่าการลงทุนด้านพลังงานทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานแบบอื่นๆ มา 40 ปี ยังมิได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างเป็นกอบเป็นกำใดๆ ต่อความต้องการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติของผู้บริโภค เขากล่าวด้วยว่าเชื้อเพลิงแห่งอนาคตทุกอย่างรวมกัน จะเท่ากับร้อยละ 9 ของความต้องการของผู้บริโภคภายในปีพุทธศักราช 2573

XS
SM
MD
LG