มีรายงานว่าสำเนาร่างกฎบัตรของสมาคมกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน รั่วไหลไปยังสื่อมวลชนก่อนหน้าที่ประเทศสมาชิกจะร่วมลงนามในการประชุมวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ประเทศสิงคโปร์
Naomi Martig ผู้สื่อข่าววีโอเอที่ศูนย์ข่าวเอเชียในฮ่องกง รายงานว่าข้อมูลในร่างกฎบัตรที่รั่วไหลออกมานั้น ระบุถึงประเด็นด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีการกำหนดบรรทัดฐานในการทำงานด้านต่างๆไว้ด้วย
ร่างกฎบัตรของสมาคมกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนจำนวน 30 หน้า ได้รับการเปิดเผยครั้งแรกโดยสื่อในประเทศไทย ซึ่งในรายละเอียดของกฎบัตรระบุถึงความตั้งใจของประเทศสมาชิกที่จะไม่แทรกแซงกิจการภายในของสมาชิกประเทศอื่น และส่วนหนึ่งยังเรียกร้องให้มีการจัดตั้งองค์กรกลางด้านสิทธิมนุษยชนอาเซียนขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม คุณ Jenina Chavez จนท.อาวุโสของกลุ่ม Focus on the Global South องค์กรพัฒนาของเอกชนที่คอยเสนอแนะแนวทางในการจัดทำกฎบัตรอาเซียนซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร กล่าวว่าดูเหมือนข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรกลางด้านสิทธิมนุษยชนที่ระบุไว้ในกฎบัตรนั้น ยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร อีกทั้งยังคลุมเคลือไม่ชัดเจนดังเช่นที่หลายฝ่ายต้องการอีกด้วย
คุณ Chavez ยังบอกอีกว่า หากสมาคมอาเซียนต้องการแสดงให้เห็นว่าเป็นกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ ก็ควรแสดงศักยภาพในการปกป้องสิทธิความเป็นมนุษย์ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในแถบนี้ให้มากขึ้น
จนท.องค์กรพัฒนาของเอกชนผู้นี้บอกว่า เวลานี้มีประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียง 4 ประเทศคือ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียเท่านั้น ที่มีสถาบันดูแลด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ แต่อีก 6 ประเทศนั้นยังไม่มี และว่าองค์กรกลางด้านสิทธิมนุษยชนอาเซียนที่จะจัดตั้งขึ้นนี้ จะเป็นทางเลือกสำคัญทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงศาลหรือคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศนั้นๆ
ปัจจุบัน สมาคมอาเซียนถูกกดดันจากทั่วโลกให้จัดการแก้ไขปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพม่า ซึ่งเพิ่งเกิดเหตุการณ์ปราบปรามกลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตย นำไปสู่การจับกุมประชาชนเกือบ 3 พันคน และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 คน
ในร่างกฎบัตรอาเซียนนั้น มีท่อนหนึ่งมี่ระบุไว้ว่าอาจมีการลงมติเสนอให้ประเทศสมาชิกประเทศใดก็ตามเข้าสู่กระบวนการปรึกษาเจรจาระหว่างประเทศได้ และสำหรับเหตุการณ์ใดที่เกิดขึ้นและยังไม่ได้รับการแก้ไข ก็สามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในที่ประชุมได้เช่นกัน อีกทั้งยังเพิ่มบทบาทของเลขาธิการใหญ่สมาคมอาเซียนด้วย โดยตามกำหนดการนั้น ประเทศสมาชิกจะต้องร่วมลงนามในกฎบัตรอาเซียนในการประชุมวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ประเทศสิงคโปร์
สมาคมอาเซียนนั้น ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พศ. 2510 ถึงเวลานี้ก็ 40 ปีแล้วนะครับ โดยประเทศสมาชิกเริ่มแรกมี อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซียและไทย ต่อมาจึงมีบรูไน พม่า ลาว กัมพูชาและเวียดนามมาเพิ่ม รวมเป็น 10 ประเทศ