ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ศาลสูงของอินเดีย บอกปัดบริษัทเภสัชกรรมโนวาติส ที่ขอให้แก้ไขกฏหมายสิทธิบัตรของอินเดีย


หน่วยงาน NGO ที่ดำเนินงานเกี่ยวกับภาคสุขภาพอนามัยในบรรดาประเทศกำลังพัฒนา แสดงความยินดีจากการที่ศาลสูงที่เมืองเชนนาย ประเทศอินเดียตัดสินบอกปัดเรื่องที่บริษัทเภสัชกรรมของสวิสเซอร์แลนด์โนวาติส ร้องเรียนเกี่ยวกับกฏหมายสิทธิบัตรของอินเดีย

บริษัทเภสัชกรรมโนวาติสต้องการให้มีการคุ้มครองเกี่ยวกับการผลิตยาที่ไม่มีชื่อทางการค้า และการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับยาที่มีอยู่

องค์กรที่มิใช่ภาครัฐอย่างเช่น Medicin San Frontiers และองค์การรณรงค์ด้านกิจการบำบัดรักษากล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลสูงที่เมืองเชนนายซึ่งเดิมมีชื่อเรียกว่ามัทราชนั้น ถือว่าเป็นชัยชนะครั้งสำคัญสำหรับเรื่องการเข้าถึงยารักษาโรคที่พอจะซื้อหามาใช้ได้ในบรรดาชาติกำลังพัฒนา

ศาลสูงบอกปัดคำร้องของบริษัทเภสัชกรรมโนวาติสที่ขอให้แก้ไขกฏหมายสิทธิบัตรของอินเดีย กฏหมายฉบับนั้นจำกัดการออกสิทธิบัตรให้นวตกรรมอย่างเป็นกอบเป็นกำเกี่ยวกับการพัฒนายา

โฆษกหญิงขององค์การ Medicin San Frontiers มาร์ตา คาเดอร์ อธิบายให้ Voice of America ฟังว่าคำวินิจฉัยที่ว่านั้นมีผลกระทบต่อโลกส่วนที่กำลังพัฒนานั้นมากมายทีเดียว และว่าเราต้องไม่ลืมว่า ขณะนั้นอินเดียเรียกได้ว่าเป็นร้านขายยาของโลกส่วนที่กำลังพัฒนา เธอกล่าวต่อไปว่าประชาชนจำนวนมากมายในประเทศที่มีฐานะยากจน ได้ยาจากบริษัทผลิตยาที่อินเดีย และว่าถ้ามีการแก้ไขกฏหมายสิทธิบัตรอย่างที่บริษัทเภสัชกรรมโนวาติสร้องขอ บริษัทเภสัชกรรมหลายต่อหลายแห่งที่ประกอบกิจการอยู่ในอินเดียขณะนี้ และทำธุรกิจกับประเทศกำลังพัฒนานั้นก็คงต้องปิดกิจการ เพราะบริษัทเหล่านั้นจะทำธุรกิจต่อไปอีกไม่ได้

บริษัทเภสัชกรรมโนวาติสอ้างว่ากฏหมายสิทธิบัตรของอินเดียละเมิดข้อตกลงขององค์การการค้าโลกเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่เรียกกันว่า TRIPS แต่ตุลาการศาลสูงวินิจฉัยว่าองค์การการค้าโลกเองจะต้องเป็นผู้ชี้ขาดเกี่ยวกับเรื่องนั้น ตุลาการผู้นั้นวินิจฉัยด้วยว่ากฏหมายสิทธิบัตรของอินเดียมิได้ละเมิดกฏหมายสูงสุดของอินเดีย

คุณมาร์ตา คาเดอร์แห่งองค์กร Medicin San Frontiers กล่าวว่ากฏหมายสิทธิบัตรของอินเดียมิได้ขัดต่อบทบัญญัติพิเศษของข้อตกลง TRIPS ซึ่งมีลักษณะอะลุ่มอะหล่วยเป็นพิเศษสำหรับประเทศกำลังพัฒนาซึ่งกำลังเผชิญปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพที่ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วนอย่างเช่น โรคเอดส์ และเชื้อไวรัสเอชไอวี และไข้จับสั่น

บ่อยครั้งที่พวกบริษัทเภสัชกรรมจะอ้างว่าความยืดหยุ่นในกฏหมายสิทธิบัตรยังผลให้รายได้ของบริษัทลดลง และผลสะท้อนที่เกิดตามมาก็คือบริษัทมีทุนสำหรับการวิจัยและการพัฒนาน้อยลง คุณมาร์ตา คาเดอร์ โฆษกหญิงขององค์การ Medicin San Frontiers กล่าวว่าการวิจัยและการพัฒนาส่วนมากพุ่งเป้าที่ประชากรผู้ร่ำรวย และว่าแทบจะไม่มีการวิจัยใหม่ๆ อย่างเช่นในด้านยารักษาวัณโรค หรือไข้จับสั่นซึ่งโรคเหล่านี้ยังคร่าชีวิตคนไปอีกเป็นจำนวนมาก ส่วนองค์การรณรงค์ด้านกิจการบำบัดรักษาที่แอฟริกาใต้ระบุไว้ในถ้อยแถลงฉบับหนึ่งว่า คำวินิจฉัยของศาลสูงของอินเดีย นับว่าเป็นชัยชนะสำหรับผู้รณรงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพคนยากจนและพลโลกที่ป่วยด้วยโรคที่เรื้อรัง หรือร้ายแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ รวมทั้งโรคเอดส์ด้วย

XS
SM
MD
LG