ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้อำนวยการขององค์การอาหารและการเกษตร แห่งสหประชาชาติ กล่าวถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำที่เกิดขึ้นทั่วโลก


ผู้อำนวยการขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอ จาร์คส์ ดิอูฟ กล่าวในการประชุมที่จัดขึ้นเนื่องในวันน้ำแห่งโลกว่า โลกจำเป็นจะต้องผูกพันธ์กับการแก้ไขปัญหาน้ำขาดแคลนทั่วโลก และประเทศต่างๆ ต้องหาวิธีแบ่งปันน้ำกันอย่างยุติธรรม เพราะมิฉะนั้นแล้วจะเกิดการขัดแย้งกันเกี่ยวกับทรัพยากรที่ทรงความสำคัญอย่างยิ่งยวดนี้

นายจาร์ค ดิอูฟ กล่าวด้วยว่า การใช้น้ำในโลกเพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรกว่าสองเท่าตัวในศตวรรษที่แล้ว และว่าภาวะน้ำขาดแคลนกระทบกระเทือนทุกทวีป และต่อประชากรในโลกกว่า 40 เปอร์เซนต์

เอฟเอโอพยากรณ์ว่าภายในปี พศ. 2568 ประชากร 2,800 ล้านคนจะอาศัยอยู่ในประเทศหรือตามภูมิภาคที่น้ำขาดแคลนอย่างรุนแรง และประชากรโลกอีก 66 เปอร์เซนต์อาจจะอาศัยอยู่ในสภาพที่มีน้ำให้ใช้อย่ากระเบียดกระเสียนเต็มที

ผู้อำนวยการของเอฟเอโอ จาร์คส์ ดิอูฟ กล่าวว่า ปัญหาน้ำขาดแคลนเป็นปัญหาอันดับ 1 ที่เกี่ยวโยงกับความยากจน อีกทั้งน้ำสกปรกและการขาดการสุขาภิบาล คือชะตากรรมที่คนยากจนทั่วโลกต้องประสบอยู่ ตามรายงานของเอฟเอโอ เด็กเสียชีวิตเนื่องจากโรคที่เกิดจากการขาดน้ำดื่มที่สะอาด และการขาดการสุขาภิบาลที่ดีนั้นวันละ 3,800 ราย

ผู้อำนวยการของเอฟเอโอ จาร์คส์ ดิอูฟ กล่าวว่า คนยากจนต้องเสียเงินมากกว่าคนอื่นเสมอ ประชาชนตามชุมชนแออัดในประเทศกำลังพัฒนามักต้องเสียค่าน้ำมากกว่าผู้ที่มีน้ำประปาใช้ 5 ถึง 10 เท่า และว่าสำหรับคนยากจนแล้ว การแก้ปัญหาน้ำขาดแคลนก็คือการประกันให้เข้าถึงน้ำที่พวกเขาต้องการเพื่อใช้ประทังชีวิตนั้น อย่างยุติธรรมและปลอดภัย

ความมั่นคงปลอดภัยด้านอาหารก็เป็นเรื่องที่อยู่ในภาวะวิกฤติเช่นเดียวกัน นายจาร์คส์ ดิอูฟกล่าวว่าภาคเกษตรกรรมเป็นภาคที่ใช้น้ำเป็นอันดับ 1 ทั่วโลก กล่าวคือใช้น้ำจืดจากทะเลสาป แม่น้ำ และแหล่งน้ำอื่นๆ ราว 70 เปอร์เซนต์ และความต้องการน้ำของฟาร์มต่างๆ จะสูงขึ้นอีก 14 เปอร์เซนต์ภายในช่วง 30 ปีข้างหน้า เขากล่าวด้วยว่าการผลิตข้าวสาลี 1 กก.นั้นต้องใช้น้ำระหว่าง 1,000-2,000 ลิตร และการผลิตเนื้อโคที่เลี้ยงด้วยเมล็ดธัญพืช 1 กก.นั้น ต้องใช้น้ำระหว่าง 13,000-15,000 ลิตร

นายจาร์คส์ ดิอูฟ กล่าวต่อไปว่าภาวะน้ำขาดแคลนกำลังหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพลมฟ้าอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามอาณาบริเวณที่แห้งแล้งที่สุดในโลก และว่าการเข้าถึงน้ำและอาหารถือว่าเป็นสิทธิที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วสากล และจะต้องหาเครื่องมือด้านสถาบันและกฏหมายที่พอเพียงให้ครบ สำหรับเอื้ออำนวยในการแบ่งปันน้ำ

XS
SM
MD
LG