ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รายงานประจำปีของ ILO เกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานในเอเชีย


รายงานประจำปีขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศหรือ ILO เปิดเผยว่า อัตราการว่างงานของประชากรของประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสัดส่วนสูงกว่าเมื่อ 10 ปีก่อนมากทีเดียว และเศรษฐกิจของบางประเทศก็ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อปี 2540

รายงานบอกว่าในขณะที่ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดในโลก ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แม้เศรษฐกิจจะเติบโตขึ้น กลับมีอัตราการว่างงานถึง 6.6% เมื่อปีที่แล้ว เทียบกับสัดส่วน 3.7% ในช่วงที่เริ่มเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในเอเชียเมื่อปี 10 ปีที่แล้ว

คุณ Steven Kapsos นักเศรษฐศาสตร์ของ ILO ประจำกรุงเทพมหานคร กล่าวว่าวิกฤตการณ์การเงินครั้งนั้นส่งผลให้เกิดการว่างงานสูงตามมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนหนุ่มสาว คุณ Kapsos บอกว่า เศรษฐกิจประเทศต่างๆฟื้นตัวและเติบโตขึ้นจริง แต่ก็ไม่ถึงจุดที่เคยเป็นก่อนเกิดวิกฤต ในขณะที่อัตราการว่างงานยังคงสูง คนหนุ่มสาวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่มีงานทำมีจำนวนสูงมากจนเกือบสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา

รายงานของ ILO ระบุว่าในช่วง 10 ปีที่มา จำนวนประชากรวัยแรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นราว 2.2% ต่อปี ในขณะที่งานใหม่ๆเกิดขึ้นน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ในรายงานยังกล่าวถึงข้อดีไว้บ้าง คือ ระดับการจ้างงานในประเทศกัมพูชาสูงขึ้นเนื่องจากมีการผลิตภาคภารเกษตรที่แข็งแกร่ง รวมทั้งการท่องเที่ยวในประเทศและอุตสาหกรรมสิ่งทอที่กำลังเติบโต ในขณะเดียวกัน เวียดนามก็มีการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภายในประเทศที่เข้มแข็ง ซึ่งช่วยจัดให้มีตำแหน่งงานใหม่ๆสำหรับประชากรที่เพิ่งก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน

อีกด้านหนึ่ง เศรษฐกิจจีนที่กำลังเติบโตก็ทำให้อัตราการว่างงานของประชากรในเมืองอยู่ในระดับต่ำประมาณ 4.1% แต่คุณ Steven Kapsos บอกว่าการอพยพของประชากรจากชนบทสู่เมือง อาจก่อให้เกิดปัญหาใหม่ตามมาได้

นักเศรษฐศาสตร์ของ ILO ผู้นี้ตั้งคำถามว่า รัฐบาลจะทำอย่างไรกับประชากรจากชนบทเหล่านั้นซึ่งเคยแต่ทำงานในไร่นา? จะหารายได้ให้แก่พวกเขาอย่างไร? คนพวกนั้นอาจไม่มีความรู้ความสามารถพอที่จะดำรงชีวิตในเมือง หรือทำงานแบบที่คนในเมืองทำ

นอกจากนี้ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศยังบอกอีกว่า การเพิ่มขึ้นของกำลังแรงงานในเอเชียใต้ คือปัญหาท้าทายที่สำคัญประการหนึ่งเช่นกัน เมื่อปีที่แล้ว เอเชียใต้มีอัตราการว่างงานคงที่ที่ระดับ 5.2% อย่างไรก็ตามดูเหมือนแรงงานวัยหนุ่มสาวทางเอเชียใต้จะมีโอกาสว่างงานสูงกว่าแรงงานผู้ใหญ่ถึง 3 เท่า

XS
SM
MD
LG