ลิ้งค์เชื่อมต่อ

พิธาเปิดอกคุยนักศึกษาไทย ‘MIT’ พร้อมบรรยายที่ ‘ฮาร์วาร์ด’ ก่อนไปวอชิงตัน


พิธา ลิ้มเจริญรัตน์พูดคุยกับนักศึกษาไทยที่มหาวิทยาลัย MIT
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์พูดคุยกับนักศึกษาไทยที่มหาวิทยาลัย MIT

ในการเดินทางมาเยือนสหรัฐฯ ครั้งนี้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เดินทางไปพูดคุยกับนักศึกษาไทยที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ พร้อมไปบรรยายพิเศษที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และชมนวัติกรรมใหม่จากสตาร์ทอัพ

ส่วนหนึ่งของการเดินทางของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล คือการกลับมาเยือนถิ่นเก่าอย่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซ็ตส์ หรือ MIT สถาบันการศึกษาชั้นแนวหน้าของสหรัฐฯ ที่อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลเคยใช้ชีวิตนักศึกษาปริญญาโทเมื่อหลายปีก่อน

ในวันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงในการพูดคุยกับนักศึกษาไทยและคนไทยที่อยู่ในบอสตันและรัฐอื่น ๆ ซึ่งจัดขึ้นที่ MIT Sloan (สะ-โลน) School of Management เป็นการถามตอบเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ เช่น บทเรียนทางการเมือง นโยบายเศรษฐกิจ และบทบาทของไทยท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ร้อนระอุในปัจจุบัน

พิธายังได้ตอบคำถามผู้เข้าร่วมงานกว่า 200 คน โดยส่วนใหญ่สนใจการเมืองและปัญหาสังคม เช่น การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของไทย อนาคตของการใช้สิทธิชุมนุมประท้วง และประเด็น sex worker หรือผู้ให้การบริการทางเพศในไทย

นฤมล ปักเข็ม จากรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่มาเยี่ยมลูกชายที่มหาวิทยาลัย MIT กล่าวว่าเธอดีใจที่ได้ฟังพิธา พูดคุยกับคนไทยในต่างประเทศ และขอให้คนไทยมีความหวังกับประชาธิปไตย

“ได้ฟังคุณทิมพูดเกือบทุกเรื่องที่เราอยากฟัง ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยหมด คุณทิมก็รับคำถามและตอบคำถามได้เยี่ยม” นฤมลกล่าวกับวีโอเอไทย และเสริมว่า

“เราอยู่อเมริกานาน มองว่าประชาธิปไตยมันต้องค่อย ๆ พัฒนาไปเรื่อย ๆ...ยิ่งมีพรรคก้าวไกล สร้างความหวังให้คนไทย โดยเฉพาะคนไทยในต่างประเทศให้เห็นว่า มันมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่สามารถเห็นการพัฒนาจากอเมริกาหรือว่าประเทศที่เขาเจริญแล้ว สามารถทำได้ด้วยประชาธิปไตย แล้วพรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่ยืนหยัดช่วยในเรื่องนี้มาก ๆ ยืนหยัดในเรื่องประชาธิปไตยมาก ๆ ก็เลยรู้สึกมีความหวัง”

อนุพงศ์ ตั้งพีรชัยกุล นักวิจัยยารักษาโรคมะเร็งที่บอสตัน และศิษย์เก่าฮาร์วาร์ดและ MIT ผู้ทำหน้าที่พิธีกร กล่าวว่าจำนวนผู้ที่ต้องการเข้าร่วมงานมีเกินกว่าที่คาดคิดเอาไว้ และตนมองว่านั่นเป็นเพราะหลายคนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง

“คนโดยเฉพาะคนไทยในอเมริกา เราก็จะได้ซึมซับความเป็นหัวก้าวหน้ามากพอสมควร แล้วเรารู้สึกว่าคุณพิธาเป็นคนที่สามารถ represent แนวคิดตรงนี้ได้ เป็นคนที่ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรมาก เป็นคนที่ประชาชนเข้าถึงได้ค่อนข้างใกล้ชิด และสามารถ represent ชุดความคิดของเขาได้เป็นอย่างดี” อนุพงศ์บอกกับวีโอเอไทย

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์พูดคุยกับนักศึกษาไทยที่มหาวิทยาลัย MIT
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์พูดคุยกับนักศึกษาไทยที่มหาวิทยาลัย MIT

ก่อนหน้านี้ในวันพฤหัสบดี พิธาได้บรรยายพิเศษเป็นภาษาอังกฤษในหัวข้อ “Moving Forward: Thailand, ASEAN & Beyond” ที่ศูนย์เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งนอกจากจะมีชาวไทยที่เดินทางมาจากรัฐต่าง ๆ เพื่อมาฟังจนแน่นห้องเลคเชอร์แล้ว นักศึกษาและอาจารย์ต่างชาติก็ยังให้ความสนใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องการนำทหารออกจากการเมือง การทลายทุนผูกขาด การกระจายอำนาจ และวัฎจักรรัฐประหารในไทย

เควิน ผู้ไม่เปิดเผยนามสกุล นักศึกษาหลักสูตรสองปริญญาที่ฮาร์วาร์ดและ MIT กล่าวว่า "ผมเคยทำงานในกัมพูชาและสิงคโปร์ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา และเห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีอิทธิพลในภูมิภาค ผมจึงต้องการทราบและศึกษามุมมองจากพิธา ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้เป็นนายกฯ​ในตอนนี้ เขาอาจจะเป็นนายกฯ ในอนาคตของไทย จึงสำคัญมากที่ต้องมาฟังความคิดของเขา"

ส่วนติยะ ซอโสตถิกุล นักศึกษาปริญญาโทที่ฮาร์วาร์ดและ MIT กล่าวว่าเขาให้คะแนนพิธา 8 เต็ม 10 ในการตอบคำถามจากผู้เข้าฟังบรรยาย ซึ่งไม่ใช่คำถามที่ง่ายนัก แต่ชื่นชมที่พิธาเปิดโอกาสให้ถามได้ทุกอย่าง

“มีคนไทยมาพูดทุกปี แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพิธา เป็นศูนย์กลางการเมืองปีนี้ที่สุด การที่คน ๆ นั้นได้มาถึงที่ เปิดโอกาสให้ได้ถาม คุยแบบเปิดเลยไม่เหมือนนักการเมืองทัวไปที่สกรีนคำถาม ผมมองว่าเป็นการพัฒนาในการพูดคุย ที่สามารถพูดโดยตรง เป็นความรู้สึกที่น่าดีใจที่ไทยค่อย ๆ เดินไปข้างหน้า" ติยะกล่าว

"ผมว่าการเมืองแนวใหม่ควรยืนอยู่บนความโปร่งใส เราสามารถถามนักกการเมือง ถามนายกฯ ถามนายกฯ ในอนาคตได้ทุกอย่าง โดยที่ไม่ควรจะมีฟิลเตอร์ และนักการเมืองก็ควรจะตอบได้ตรง ๆ ชัดเจน"

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถ่ายรูปคู่กับนักเรียนแลกเปลี่ยนที่มาฟังบรรยาย ที่ศูนย์เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถ่ายรูปคู่กับนักเรียนแลกเปลี่ยนที่มาฟังบรรยาย ที่ศูนย์เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

การบรรยายดังกล่าวยังทำให้อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้พบกับ แดเนียล กินสเบิร์ก เพื่อนเก่าสมัยเรียน Harvard Kennedy School ทีรู้สึกตื่นเต้นที่ได้มาฟังบรรยายจากเพื่อนเก่า ผู้เป็นถึงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของไทย

แดเนียลบอกกับวีโอเอไทยว่า เขารู้สึกทึ่งและดีใจที่พิธาพยายามที่จะเป็นผู้นำที่ตั้งมั่นในค่านิยมและความเชื่อ เพราะนักการเมืองหลายคน่พูดแต่ไม่ทำ บางครั้งเขารู้สึกห่วงอยู่บ้างที่เห็นข่าวพิธาท้าทายฝั่งอนุรักษ์นิยมและกองทัพไทย แต่โดยรวมเขาประทับใจและภูมิใจกับเพื่อนคนนี้มาก

นอกจากนี้ พิธายังได้เยี่ยมชมนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่พิพิธภัณฑ์ MIT และ MIT Media Lab และได้ไปดูงานของสตาร์ทอัพที่มองว่าเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาของไทยอีกด้วย โดยหลังจากนี้ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลจะเดินทางต่อไปยังกรุงวอชิงตัน

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG