ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สื่อนอกมองไทยประเด็นตั้งประธานสภา - สันติภาพชายแดนใต้


Thailand Politics
Thailand Politics

สำนักข่าวต่างประเทศให้ความสนใจสถานการณ์การเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง โดยสื่อบลูมเบิร์ก ลงข่าวเมื่อวันที่ 26 พ.ค. เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย ขณะที่รอยเตอร์ออกข่าวในวันเดียวกันเกี่ยวกับทิศทางนโยบายชายแดนใต้หลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา

บลูมเบิร์กรายงานว่า หัวหน้าพรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ขอให้พรรคที่กำลังพยายามตั้งรัฐบาลผสมที่ชนะการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. ยุติการปะทะคารมกันต่อหน้าสาธารณะเรื่องการคัดเลือกผู้ที่จะเป็นประธานสภาผู้เเทนราษฎร

สื่อแห่งนี้รายงานด้วยว่าพิธาขอให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันทำให้ระบอบเดิมที่ปกครองประเทศมาเกือบ 10 ปีจบลงแทนการทะเลาะกันเอง

รายงานอ้างถึงคำพูดของพิธาในทวีตในวันศุกร์ที่ระบุว่า "เรื่อง #ประธานสภา ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ เป็นเรื่องความเห็นไม่ตรงกันของพรรคร่วมรัฐบาลที่เล็กมากถ้าหากเทียบกับภารกิจที่ประชาชนมอบความไว้วางใจให้พวกเรามา ดังนั้น พรรคร่วมรัฐบาลต้องจับมือเกี่ยวแขนกันไว้ให้มั่นคง ทำภารกิจยุติสืบทอดอำนาจรัฐประหาร พาประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยให้สำเร็จจงได้"

บลูมเบิร์กรายงานว่าความขัดแย้งเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ เกิดขึ้นไม่นานหลังจากพรรคก้าวไกลและพันธมิตรแถลงข่าวการลงนามความเข้าใจร่วมกันถึงประเด็นที่เห็นพ้องต้อง

ประเด็นเหล่านั้นรวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และการเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร แต่พรรคเหล่านั้นข้ามเรื่องการเเก้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นหัวข้อร้อน และเป็นเรื่องที่พรรคก้าวไกลสัญญาว่าจะผลักดันผ่านสภาช่วงการเลือกตั้ง

พรรคก้าวไกลอ้างว่า ตนควรได้ตำแหน่งประธานสภาผู้เเทนราษฎรเพราะบทบาทนี้สำคัญอย่างยิ่งต่อการผลักดันกฎหมายที่มีเเนวทางก้าวหน้าและต่อความโปร่งใสในกระบวนการรัฐสภาตามที่สัญญาไว้กับผู้ใช้สิทธิ์

อย่างไรก็ตามพรรคเพื่อไทยแย้งว่าก้าวไกลคงไม่สามารถเก็บเอาตำเเหน่งสำคัญไว้เองทั้งหมดโดยที่พรรคร่วมอื่น ๆ ต้องรับภาระต่าง ๆ ไว้รายงานข่าวระบุ

Pro-royalist activists during a rally in front of the U.S. embassy in Bangkok
Pro-royalist activists during a rally in front of the U.S. embassy in Bangkok

อีกด้านหนึ่ง รอยเตอร์รายงานว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไทยเรียกร้องรัฐบาลใหม่ให้เดินหน้าหารือสันติภาพชายแดนใต้

พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศต้อง “รักษาความต่อเนื่องและโมเมนตัมของการพูดคุย” ซึ่งเพิ่งกลับมาเริ่มต้นใหม่เมื่อปีที่แล้ว หลังต้องมีการพักการหารือไปสองปีเพราะการระบาดใหญ่ของโควิด-19

พล.อ.วัลลภ ยืนยันด้วยว่า ทีมงานคณะพูดคุยจะทำงานกับผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการหารือจนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่สำเร็จ

ทั้งนี้ รอยเตอร์ได้ติดต่อไปยังขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional) หรือ บีอาร์เอ็น ซึ่งฝ่ายเรียกร้องให้มีการประกาศพื้นที่ชายแดนใต้เป็นอิสระจากไทยและเป็นคู่เจรจาของคณะพูดคุยฯ เพื่อขอความเห็น แต่ไม่ได้รับการตอบกลับก่อนจัดทำรายงานนี้เสร็จ

กลุ่มพันธมิตรพรรคการเมืองที่นำโดยพรรคก้าวไกลเปิดเผยว่า ทางกลุ่มจะให้ความสำคัญภารกิจสร้างสันติภาพในพื้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามและมีเชื้อสายมาเลย์ ขณะที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า กระบวนการสันติสุขนั้นจะมีฝ่ายพลเรือนเป็นผู้นำ มากกว่าจะเป็นฝ่ายทหาร และจะต้องพิจารณาประเด็นสิทธิมนุษยชน การอยู่ร่วมกันของคนที่มีความหลากหลายในสังคมเดียวกัน และการมีส่วนร่วมของคนหมู่มากด้วย

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์หลายรายกล่าวว่า รัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกลนั้นน่าจะสามารถชักชวนให้ประชาชนและประชาคมนานาชาติเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ได้มากกว่ารัฐบาลไทยในอดีต

ดอน ปาทาน นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคง ให้ความเห็นกับรอยเตอร์ว่า “การหารือสันติภาพนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเจรจาระดับสูงระหว่างภาครัฐของไทยและประชาชนชาวปัตตานี” และว่า “ความท้าทายนั้นก็คือ การสรุปความและระบุให้ได้ว่า อะไรคือนิยามของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างทุกฝ่าย”

  • ที่มา: เนื้อหาบางส่วนจากรอยเตอร์และบลูมเบิร์ก

XS
SM
MD
LG