ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ชาวจีนรุ่นใหม่นิยม 'รัดเข็มขัด' ออมเงินฝ่าเศรษฐกิจซบเซา


People wearing face masks line up outside a store of French luxury brand Celine, at a reopened shopping mall amid the COVID-19 outbreak in Shanghai, China, May 29, 2022.
People wearing face masks line up outside a store of French luxury brand Celine, at a reopened shopping mall amid the COVID-19 outbreak in Shanghai, China, May 29, 2022.

ก่อนการเกิดโรคระบาดใหญ่ Doris Fu วางแผนที่จะซื้อรถยนต์คันใหม่ ย้ายไปอยู่ในอพาร์ตเมนท์ที่ใหญ่ขึ้น ออกไปทานอาหารเลิศรสในวันหยุดสุดสัปดาห์ และไปเที่ยวเกาะที่อยู่ในเขตร้อนในช่วงเทศกาลวันหยุดต่าง ๆ

แต่ที่ปรึกษาด้านการตลาดในเซี่ยงไฮ้วัย 39 ปีผู้นี้ กลับเป็นหนึ่งในชาวจีนหลาย ๆ คนที่อยู่ในช่วงอายุ 20 และ 30 ปี ที่ลดการใช้จ่ายและประหยัดเงินเท่าที่จะสามารถทำได้ ซึ่งการล็อกดาวน์เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสของจีนส่งผลให้คนหนุ่มสาวว่างงานในอัตราที่สูง และตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็ซบเซาลง

Fu บอกกับรอยเตอร์ว่า เธอเลิกทำเล็บ เลิกเข้าร้านทำผม และซื้อเครื่องสำอางที่ผลิตในจีนทั้งหมด

ความประหยัดในรูปแบบใหม่นี้ แพร่ขยายออกไปโดยการที่บรรดาผู้มีอิทธิพลในโลกโซเชียลต่างพยายามโน้มน้าวผู้คนให้ใช้ชีวิตแบบประหยัดอีกทั้งยังแบ่งปันเคล็ดลับต่าง ๆ ในการประหยัดเงิน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่คุกคามต่อประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลก

ทั้งนี้ การใช้จ่ายของผู้บริโภคมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ GDP ของจีน

Benjamin Cavender กรรมการผู้จัดการของ China Market Research Group (CMR) กล่าวว่า "เราได้ทำแผนที่พฤติกรรมผู้บริโภคมาเป็นเวลา 16 ปีแล้ว และในช่วงเวลานี้พฤติกรรมการบริโภคของคนหนุ่มสาวเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด”

นโยบาย "ปลอดโควิด" ของจีน ซึ่งรวมถึงการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด การจำกัดการเดินทาง และการตรวจหาเชื้อ ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้การปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของรัฐบาลยังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อแรงงานหนุ่มสาวอีกด้วย

ข้อมูลของรัฐบาลระบุว่า การว่างงานในหมู่คนที่มีอายุระหว่าง 16 ถึง 24 ปีอยู่ที่เกือบ 19% หลังจากที่มีสถิติสูงสุดอยู่ที่ 20% ในเดือนกรกฎาคม คนหนุ่มสาวบางคนถูกบังคับให้รับค่าจ้างที่ลดลง เงินเดือนเฉลี่ยใน 38 เมืองใหญ่ของจีนลดลง 1% ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ตามข้อมูลที่รวบรวมโดยบริษัทจัดหางานออนไลน์ Zhilian Zhaopin

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวส่งผลให้คนหนุ่มสาวบางคนพยายามเก็บหอมรอมริบมากกว่าที่จะใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

ยอดขายสินค้าปลีกในจีนเพิ่มขึ้นเพียง 2.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันในเดือนกรกฎาคม จากนั้นฟื้นตัวเป็น 5.4% ในเดือนสิงหาคม แต่ยังต่ำกว่าระดับ 7% ขึ้นไปในช่วงปี 2019 ก่อนที่จะเกิดการระบาดใหญ่

อย่างไรก็ดี ประชากรจีนเกือบ 60% มีแนวโน้มที่จะเก็บออมกันมากขึ้น แทนที่จะบริโภคหรือลงทุนมากขึ้น ตามการสำรวจประจำไตรมาสล่าสุดโดยธนาคาร People’s Bank of China (PBOC) และธนาคารกลางของจีน และตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 45% เมื่อสามปีที่แล้ว

โดยรวมแล้ว ครอบครัวชาวจีนฝากเงินเข้าธนาคารกันถึง 10.8 ล้านล้านหยวน (1.54 ล้านล้านดอลล่าร์) ในช่วงแปดเดือนแรกของปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 6.4 ล้านล้านหยวนในช่วงเดียวกันของเมื่อปีที่แล้ว เรื่องนี้เป็นปัญหาสำหรับผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของจีน ซึ่งพึ่งพาการบริโภคของประชากรที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจมาเป็นเวลานานแล้ว

จีนเป็นประเทศเศรษฐกิจชั้นนำเพียงประเทศเดียวที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ เพื่อที่จะกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ ธนาคารใหญ่ ๆ ของรัฐบาลจีนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากส่วนบุคคลในวันที่ 15 กันยายน ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้คนเลิกออมเงินและหันมาบริโภคกันมากขึ้น

เจ้าหน้าที่ของ PBOC กล่าวถึงสถานการณ์ที่ประชากรหันมาอดออมกันมากขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมว่า เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย การลงทุนและการบริโภคก็จะเพิ่มขึ้นและจะมีความมั่นคงอีกด้วย

Cavender จาก CMR กล่าวว่า “ในอดีต หากเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้บริโภคมักจะรู้สึกว่านโยบายของรัฐบาลจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างรวดเร็ว” แต่ความท้าทายในตอนนี้คือการที่ผู้บริโภควัยหนุ่มสาวไม่สามารถคาดเดาอนาคตของตัวเองได้เลย

Fu ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดกล่าวว่า เธอได้เลื่อนแผนการที่จะขายอพาร์ตเมนท์ขนาดเล็กสองห้องเพื่อซื้อห้องที่ใหญ่กว่าในเขตการศึกษาที่ดีกว่าสำหรับลูกชายของเธอออกไป และล้มเลิกความคิดที่จะซื้อรถคันใหม่ เพราะเธอคิดว่าอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG