ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สตรีซาอุฯ ถูกสั่งจำคุก 45 ปีจากการใช้โซเชี่ยลมีเดีย


King Abdulaziz Falconry 2022 in Riyadh
King Abdulaziz Falconry 2022 in Riyadh

ศาลประเทศซาอุดิอาระเบียสั่งจำคุกสตรีรายหนึ่งเป็นเวลา 45 ปีจากข้อหาสร้างความเสียหายให้เเก่ประเทศจากการใช้โซเชี่ยลมีเดีย ตามรายงานของเอพีที่อ้างข้อมูลจากศาล

สตรีผู้ถูกตัดสินในครั้งนี้ชื่อ นอราห์ บินต์ ซาอิด อัล-คาห์ทานี ผู้ซึ่งไม่เคยมีประวัติเป็นนักกิจกรรมมาก่อน

คดีดังกล่าวเป็นกรณีที่สองที่เกิดคำตัดสินคล้าย ๆ กัน และทำให้ผู้คนจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อมาตรการเรื่องการใช้สื่อออนไลน์ของซาอุดิอาระเบียในขณะนี้

เอกสารของคดีนี้ ที่สำนักข่าวเอพีอ้างอิง ระบุว่าอัล-คาห์ทานีถูกตัดสินเช่นนี้จากการใช้โซเชียลมีเดีย เอพีพยายามติดต่อเจ้าหน้าที่ซาอุฯ เพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมแต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ

ผู้พิพากษาระบุว่า อัล-คาห์ทานี "สร้างความปั่นป่วนต่อความเป็นบึกแผ่นของสังคม" และ "การทำผิดต่อกฎสาธารณะจากการใช้เครือข่ายข้อมูล"

ไม่เป็นที่ทราบเเน่ชัดว่าเธอโพสต์ข้อมูลใดลงอินเทอร์เน็ต และเอพีไม่มีข้อมูลว่าการรับฟังความไต่สวนในคดีนี้เกิดขึ้นที่ใด

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน Democracy for the Arab World Now ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงวอชิงตัน และเป็นองค์กรที่มักวิจารณ์ประเทศซาอุดิอาระเบียกล่าวว่า อัล-คาห์ทานีถูกควบคุมตัวไว้ตั้งเเต่วันที่ 4 กรกฎาคมปีที่เเล้ว

อับดุลลาห์ อะลาอุดห์ ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคของ Democracy for the Arab World Now กล่าวว่า "ดูเหมือนว่ากำลังเกิดการเริ่มต้นของคลื่นการตัดสินลงโทษผู้กระทำผิดระลอกใหม่โดยผู้พิพากษาที่ถูกมาให้ทำงานในศาลคดีอาญาพิเศษเเห่งนี้"

อีกด้านหนึ่ง องค์กร Freedom Initiative ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงวอชิงตัน เช่นกัน ประณามการตัดสินจำคุกครั้งนี้ว่ารุนเเรงเกินไปอย่างมาก

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. เอพีรายงานว่า ศาลอาญาซาอุดีอาระเบียสั่งจำคุกซัลมา อัล-เชฮับ นักศึกษาปริญญาเอกเป็นเวลา 34 ปี ด้วยข้อหาเผยแพร่ “ข่าวลือ” และรีทวีตข้อความต่อต้านรัฐบาล เมื่อช่วยต้นเดือนที่ผ่านมา

ทั่วโลกต่างประณามคำตัดสินต่ออัล-เชฮับ ขณะที่นักเคลื่อนไหวและนักกฎหมายต่างเห็นว่า คำตัดสินจำคุกอัล-เชฮับ ซึ่งเป็นคุณแม่ลูกสอง นักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยลีดส์ในอังกฤษ และนักศึกษาระดับปริญญาเอกชั้นปีสุดท้ายในวิทยาลัยแพทย์ของมหาวิทยาลัยเดียวกัน เป็นคำตัดสินที่น่าตกตะลึง แม้เมื่อเทียบกับมาตรฐานโดยปกติของกระบวนการยุติธรรมในซาอุดีอาระเบียก็ตาม

  • ที่มา: สำนักข่าวเอพี

XS
SM
MD
LG