ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทัพเรืออเมริกันใช้ ‘เรือรบไร้คนขับ’ เสริมทัพรับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก


ทัพเรืออเมริกันใช้ ‘เรือรบไร้คนขับ’ เสริมทัพรับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

กองทัพสหรัฐฯ ให้น้ำหนักกับบทบาทด้านการทหารของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด กองทัพเรือสหรัฐฯ หันมาพึ่งพาเรือรบไร้คนขับเพื่อเสริมทัพในภูมิภาคนี้บ้างแล้ว

วีโอเอได้เข้าไปสำรวจเรือไร้คนขับหนึ่งใน 4 ลำใหม่ Sea Hunter, Seahawk, Nomad และ Ranger เข้ามาเสริมทัพให้กับของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในฤดูร้อนปีนี้

นาวาโท เจเรไมห์ เดลีย์ ผู้บังคับการกองเรือผิวน้ำไร้คนขับที่หนึ่ง (Unmanned Surface Vessel Division One - USVDIV-1) แห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ กล่าวกับวีโอเอว่า เรือไร้คนขับลำนี้ ไม่มีระบบน้ำ ไม่มีห้องน้ำ เรือมีหน้าที่ล่องไปตามท่าเรือต่าง ๆ โดยมีการควบคุมของมนุษย์ให้เคลื่อนที่ไปยังจุดหมายอย่างปลอดภัยเท่านั้น

นาวาโท เดลีย์ เป็นผู้บังคับการกองเรือผิวน้ำไร้คนขับ หรือที่เรียกว่า ‘เรือโดรน’ หน่วยแรกของกองทัพเรือสหรัฐฯ บอกกับวีโอเอด้วยว่า เรือไร้คนขับเหล่านี้ยังมีทหารคอยควบคุมในระยะเริ่มต้น และวันหนึ่งเรือเหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทช่วยให้กองทัพเรือสหรัฐฯ สามารถลาดตระเวนในน่านน้ำอันกว้างใหญ่ 165 ล้านตารางกิโลเมตรของมหาสมุทรแปซิฟิกได้ดียิ่งขึ้น

นาวาโท เดลีย์ เพิ่มเติมว่า มหาสมุทรแปซิฟิกเป็นน่านน้ำที่กว้างใหญ่ และการมีส่วนผสมของระบบเรือไร้คนขับเข้ามากับการลาดตระเวณโดยกองทัพเรือแบบดั้งเดิม จะช่วยให้เพิ่มศักยภาพในการระบุเป้าหมายและความสามารถในการเชื่อมต่อไม่เพียงแต่ภายในกองทัพสหรัฐฯ แต่ยังรวมถึงของประเทศหุ้นส่วนด้วยเช่นกัน

ที่ผ่านมา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และจีน มีโครงการพัฒนาเรือไร้คนขับเพื่อเสริมทัพในน่านน้ำนี้เช่นกัน

แรนดี ไชรเวอร์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการความมั่นคงภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก กล่าวกับวีโอเอว่า เทคโนโลยีเรือโดรน มีบทบาทสำคัญในการรักษาความเป็นเสรีและเปิดกว้างของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่กำลังเผชิญกับการขยายอิทธิพลของกองทัพเรือที่รุกหนักขึ้น

ไชร์เวอร์ กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวกำลังถูกทดสอบมากขึ้นเรื่อย ๆ และว่าพาหนะที่เคลื่อนที่โดยอัตโนมัติหรือไร้คนขับ ที่สามารถดำน้ำลึกได้หรือเคลื่อนที่บนผิวน้ำมีราคาที่ถูกลง และสิ่งนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงของชีวิตกำลังพลด้วย

อย่างไรก็ตาม ในรายงานล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แสดงความกังวลว่ากองทัพเรือสหรัฐฯ มีความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดสรรระบบขนส่งของเรือไร้คนขับมากน้อยแค่ไหน

เจมส์ ซีเบนส์ นักวิชาการด้านกลยุทธ์กลาโหม จากสถาบัน Stimson Center แสดงความกังวลว่า เรือรบไร้คนขับอาจกลายเป็นเป้าหมายทางการทหารที่น่าดึงดูดขึ้นมา โดยเฉพาะกับจีนที่อาจมองว่าเรือไร้คนขับเป็นเป้าหมายที่สามารถใช้ในการทดสอบระบบป้องกันขีปนาวุธต่อต้านเรือรบได้

แต่นอกเหนือจากความกังวลดังกล่าว ซีเบนส์ เชื่อว่า เรือไร้คนขับอาจมีบทบาทสำคัญต่อการรับมือการปิดล้อมของจีนรอบ ๆ เกาะไต้หวันได้ โดยไม่ต้องให้ทหารอเมริกันตกอยู่ในความเสี่ยง

ในรายงานสมุดปกขาวฉบับล่าสุดของจีน รัฐบาลปักกิ่งยุติการให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ส่งทหารไปยังไต้หวัน ซึ่งไชรเวอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย ยืนยันว่า สหรัฐฯ ต้องลงทุนในเทคโนโลยีการทหารใหม่ เพื่อรักษาสันติภาพน่านน้ำสำคัญของโลก ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ควรคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา แต่ ณ เวลานี้ นี่คือการเพิ่มพูนไม่ใช่การลดทอนศักยภาพด้านเทคโนโลยีกลาโหมสหรัฐฯ

นาวาโท เดลีย์ ผู้บังคับการกองเรือผิวน้ำไร้คนขับของกองทัพเรือสหรัฐฯ กล่าวว่า กองเรือผิวน้ำไร้คนขับควรเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพสหรัฐฯ ภายในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG