ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์: 1 ปีอัฟกานิสถานใต้การปกครองตาลิบัน


Taliban fighters celebrate the first anniversary of the fall of Kabul
Taliban fighters celebrate the first anniversary of the fall of Kabul

ผ่านพ้นไปเป็นเวลา 1 ปีเต็ม ที่ตาลิบันกลับเข้ายึดอำนาจปกครองอัฟกานิสถาน หลังจากสหรัฐฯ และชาติตะวันตกถอนกำลังทหารออกไปจากอัฟกานิสถาน ความพยายามของกลุ่มติดอาวุธในการเข้าจัดการปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าจากปัญหาภัยแล้ง การระบาดใหญ่ของโควิด-19 และความเชื่อมั่นในรัฐบาลที่เสื่อมถอยลงไป ต่างสะท้อนให้เห็นว่าความพยายามเหล่านี้ไร้ผล

การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

ในช่วงก่อนตาลิบันยึดอำนาจ 75% ของรายจ่ายภาครัฐของรัฐบาลพลเรือนอัฟกัน จากงบประมาณปี 2020-2021 ราว 5,500 ล้านดอลลาร์ มาจากเงินช่วยเหลือจากต่างชาติ แต่เมื่อสหรัฐฯ ถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานเมื่อปีก่อน ความช่วยเหลือจากนานาชาติถูกตัดขาดไปหลังการคว่ำบาตรรัฐบาลตาลิบัน

ทางสหรัฐฯ ระงับการเข้าถึงทุนสำรองของธนาคารกลางอัฟกานิสถาน เนื่องจากความกังวลด้านสิทธิมนุษยชนและการก่อการร้ายภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลิบัน

ระหว่างที่รัฐบาลตาลิบันและหลายประเทศจะออกมาเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการดังกล่าว ความช่วยเหลือที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อชาวอัฟกันยังคงหลั่งไหลเข้าไปอยู่ โดยเฉพาะการบรรเทาทุกข์ของชาวอัฟกันจากปัญหาความมั่นคงทางด้านอาหารและภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2020 ชาวอัฟกันเผชิญภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงเพิ่มเติมเกือบเท่าตัวมาอยู่ที่ระดับ 20 ล้านคน ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร 38.9 ล้านคนทั่วประเทศแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น ทางสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (U.S. Agency for International Development) หรือ USAID และองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ ได้จัดสรรเงินช่วยเหลือในระยะสั้นเพื่อป้องกันภาวะล่มสลายของระบบสาธารณสุขของอัฟกานิสถานด้วย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลตาลิบัน พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถจัดเก็บรายได้เข้ารัฐได้อย่างดี ที่ 840 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดือนธันวาคมปี 2021 ถึงเดือนมิถุนายนปี 2022 โดย 56% ของรายได้มาจากภาษีศุลกากร และการส่งออกถ่านหินและผลไม้ไปยังปากีสถาน

เดวิด แมนส์ฟิลด์ นักวิจัยที่ศึกษาระบบเศรษฐกิจผิดกฎหมายในอัฟกานิสถานมาเป็นเวลา 25 ปี ประเมินว่ารัฐบาลตาลิบันทำรายได้ราว 27.5-35 ล้านดอลลาร์ต่อปีในการเรียกเก็บภาษีการค้ายาเสพติด และราว 245 ล้านดอลลาร์จากการตั้งด่านตามท้องถนน ที่นักรบตาลิบันขูดรีดจากคนขับรถบรรทุกขนส่งอาหารและเชื้อเพลิงไปตามจุดต่าง ๆ ของประเทศ

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลตาลิบันมีงบประมาณสำหรับปี 2022-2023 อยู่ที่ 2,600 ล้านดอลลาร์

สิทธิด้านการศึกษา

แม้ว่าทางการสหรัฐฯ และรัฐบาลตาลิบันได้แลกเปลี่ยนข้อเสนอเพื่อแลกกับการยุติการระงับการเข้าถึงสินทรัพย์ในต่างประเทศของรัฐบาลอัฟกัน แต่ทั้งสองฝ่ายยังมีความเห็นต่างในหลายด้าน จุดหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือความมุ่งมั่นของรัฐบาลตาลิบันในการส่งเสริมสิทธิด้านการศึกษาและเสรีภาพในการแสดงออก ภายใต้กรอบของกฎหมายอิสลาม

กระทรวงศึกษาธิการของรัฐบาลตาลิบัน ให้คำมั่นว่าจะเปิดการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 สำหรับเด็กผู้หญิงในเดือนมีนาคมปีนี้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลตาลิบันเปลี่ยนแผนกะทันหันในวันที่ 23 มีนาคม อ้างเหตุผลว่าเป็นเรื่องการกำหนดสถานศึกษาที่แบ่งแยกเพศ จนถึงตอนนี้ นักเรียนหญิงระดับมัธยมศึกษาในพื้นที่ส่วนใหญ่ในอัฟกานิสถานยังรอคอยคำตอบในเรื่องนี้ ขณะที่นักเรียนชายกลับเข้าโรงเรียนแทบทันทีหลังจากการล่มสลายของรัฐบาลพลเรือนอัฟกัน

เมื่อช่วงที่ตาลิบันปกครองอัฟกานิสถานครั้งก่อน เด็กหญิงอัฟกันราว 5,000 คนมีโอกาสได้เรียนหนังสือ แต่ในช่วงปี 2018 จำนวนนักเรียนหญิงที่ได้รับโอกาสเรียนหนังสือพุ่งขึ้นอยู่ที่ 3.8 ล้านคน ขณะที่ข้อมูลจากองค์การยูเนสโก ระบุว่า พบรายงานการทุจริตในระบบการศึกษาทั่วอัฟกานิสถาน

เสรีภาพสื่อและสิทธิสตรีที่ถูกลิดรอน

ในการแถลงข่าวครั้งแรกของรัฐบาลตาลิบันหลังการเข้ายึดอำนาจในเดือนสิงหาคมปีก่อน กลุ่มตาลิบันกล่าวว่าจะยอมรับ “สื่อเสรีและเป็นอิสระ” แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไป รัฐบาลตาลิบันออกคำสั่งและวิพากษ์วิจารณ์สื่อหลายครั้ง และบางกรณีที่การปิดกั้นการนำเสนอของสื่อด้วยเช่นกัน

สื่อมวลชนหญิงถูกห้ามทำงานให้กับสื่อของรัฐบาล ขณะที่ผู้หญิงที่ทำงานกับสื่อของเอกชนต้องสวมผ้าคลุมปกปิดใบหน้าระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ขณะที่การทำงานของสื่อในบางพื้นที่ต้องขออนุญาตจากทางการท้องถิ่นก่อนนำเสนอข่าว และมีการสั่งห้ามบริษัทสื่อหลายแห่งในการนำเสนอเพลง ละคร รายการบันเทิง อันเป็นการตัดช่องทางหารายได้ของบริษัทเหล่านี้จนต้องปิดตัวไปหลายรายแล้ว

ปัจจุบัน อัฟกานิสถาน ตกมาอยู่อันดับที่ 156 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ในรายงานดัชนีเสรีภาพสื่อ RSF World Press Freedom Index โดย Reporters Without Borders (RSF) หรือ ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ระบุในรายงานฉบับล่าสุดว่า การคืนสู่อำนาจของตาลิบัน “ได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการเคารพเสรีภาพสื่อและความปลอดภัยของผู้สื่อข่าวโดยเฉพาะผู้หญิง”

นอกเหนือจากเสรีภาพสื่อแล้ว การประชุมผู้นำกลุ่มตาลิบันในเดือนมีนาคม ยังระบุให้ผู้ชายที่ทำงานกับรัฐบาลต้องไว้หนวดเครา การไปสวนสาธารณะจะต้องแบ่งแยกพื้นที่ชายหญิง การจำกัดการเข้าถึงห้องอาบน้ำของผู้หญิงในบางพื้นที่ ผู้หญิงไม่สามารถขึ้นเครื่องบินได้โดยไม่มีญาติผู้ชายติดตามไปด้วย และถึงขั้นที่หุ่นลองเสื้อในทุกร้านรวงทั่วประเทศจะต้องไม่มีหัว โดยอ้างว่าขัดต่อหลักการของศาสนาอิสลาม

สัมพันธ์กับต่างชาติและความมั่นคงภายในประเทศ

สำหรับรัฐบาลตาลิบันแล้ว ภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ มาจากกลุ่มรัฐอิสลามจังหวัดโคราซาน หรือ ISIS-K และกลุ่มอัลเคดา แม้ว่าการโจมตีโดยกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้จะลดลงไปตั้งแต่ตาลิบันเข้าครองอำนาจ แต่เหตุรุนแรงยังคงมีอยู่และพุ่งเป้าไปยังสถานศึกษาและศาสนสถาน

ส่วนในระดับสากล รัฐบาลตาลิบันยังไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ แต่ผู้นำตาลิบันได้รับเทียบเชิญเข้าร่วมประชุมนานาชาติในอุซเบกิสถาน ซึ่งเทียบเชิญตัวแทนจาก 30 ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และสหประชาชาติ แต่รัฐบาลตะวันตกปฏิเสธที่จะพบปะกับตัวแทนของรัฐบาลตาลิบันจนกว่าจะมีการแก้ปัญหาเรื่องสิทธิสตรีและสิทธิมนุษยชน และการจัดตั้งรัฐบาลที่มีส่วนร่วมมากขึ้น

มีเพียงรัฐบาลจีนที่ยังคงติดต่อโดยตรงกับคณะทำงานของรัฐบาลตาลิบัน และพบกันมาแล้วในหลายวาระในระดับทวิภาคีและในเวทีระหว่างประเทศ ในการหารือแผนการฟื้นฟูอัฟกานิสถาน

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG