ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เส้นทางอำนาจ “โคฐาภยะ ราชปักษะ” ก่อนเดินทางถึงไทย 


Sri Lanka
Sri Lanka

ชวนดูเส้นทางอำนาจของอดีตประธานาธิบดีโคฐาภยะ ราชปักษะ ก่อนที่เขาจะเดินทางถึงสนามบินดอนเมืองของไทยเมื่อวันพฤหัสบดี โดยทางการไทยระบุว่า อดีตผู้นำศรีลังกาผู้นี้จะอยู่ในไทยเพียงชั่วคร่าวและไม่มีเป้าหมายลี้ภัยทางการเมืองในไทย โดยหนังสือเดินทางทางการทูตของโคฐาภยะ อนุญาตให้เขาพำนักในไทยได้ 90 วัน

เส้นทางการเมืองตระกูลราชปักษะ

ตระกูลราชปักษะเป็นตระกูลการเมืองที่ครองอำนาจบริเวณภาคใต้ของประเทศมาหลายสิบปี ก่อนที่มหินทา ราชปักษะ จะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี 2005

มหินทาได้รับความนิยมในกลุ่มผู้รักชาติ และเอาชนะกลุ่มกบฎชาติพันธุ์ พยัคฆ์ทมิฬได้ในปี 2009 ซึ่งถือเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามกลางเมืองนาน 26 ปี มหินทาและน้องชาย คือ โคฐาภยะ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านยุทธศาสตร์ทหารในกระทรวงกลาโหมศรีลังกาในขณะนั้น ต่างปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าพวกเขาใช้ความรุนแรงในช่วงสงครามกลางเมือง

มหินทาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศจนถึงปี 2015 เมื่อเขาพ่ายแพ้ต่อฝ่ายค้าน ก่อนที่ตระกูลราชปักษะจะกลับมามีอำนาจอีกครั้งในปี 2019 หลังโคฐาภยะชนะการเลือกตั้ง

โคฐาภยะหาเสียงว่า จะนำความมั่นคงกลับคืนสู่ศรีลังกา หลังเกิดเหตุระเบิดพลีชีพจนมีผู้เสียชีวิต 290 คน เขายังรับปากว่า จะนำลัทธิชาตินิยมกลับคืนส่ประเทศอีกครั้ง และจะพัฒนาเศรษฐกิจ นำความมั่นคงมาสู่ประเทศ

อย่างไรก็ตาม เขากลับดำเนินนโยบายผิดพลาดร้ายแรงหลายครั้งจนทำให้ศรีลังกาเข้าสู่ภาวะวิกฤต

Gotabaya Rajapaksa infographic
Gotabaya Rajapaksa infographic

นโยบายลดภาษีทำงบภาครัฐลด

แม้งบประมาณของรัฐจะลดลง เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวกทรุดตัวจากเหตุระเบิด และการชำระหนี้เงินกู้จากต่างชาติ ที่เคยกู้เพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาต่าง ๆ รวมทั้งโครงการท่าเรือและสนามบินในแถบบ้านเกิดของโคฐาภยะ แต่โคฐาภยะยังคงเดินหน้าอนุมัติการลดภาษีครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของเขา

นโยบายลดภาษีมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย แต่นโยบายนี้ก็ทำให้งบของประเทศลดลงอย่างมากเช่นกัน และการล็อคดาวน์ในช่วงการระบาดของโควิด-19 และการสั่งห้ามใช้ปุ๋ยเคมี ก็ทำให้เศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่ลงกว่าเดิม

งบประมาณของศรีลังกาหมดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศไม่สามารถชำระหนี้ได้ ภาวะขาดอาหาร ก๊าซหุงต้ม น้ำมัน และยา ทำให้ประชาชนไม่พอใจต่อสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นการบริหารที่ผิดพลาด การทุจริต และการเล่นพรรคพวก

จุดเริ่มต้นของการหมดอำนาจ

การประท้วงที่ขยายตัวขึ้นทำให้เหล่าญาติในตระกูลราชปักษะ รวมทั้งรัฐมนตรีคลัง ต้องลาออกจากคณะรัฐมนตรี ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ผู้สนับสนุนรัฐบาลปะทะกับผู้ประท้วงจนมีผู้เสียชีวิตเก้าคน มหินทา ราชปักษะ ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถูกดดันให้ลาออกและหนีไปที่ฐานทัพเรือที่ถูกคุ้มกันแน่นหนา

รานิล วิกรมสิงเห ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากมหินทาในเดือนเดียวกันท่ามกลางสถานการณ์ที่ตึงเครียดขึ้น ก่อนที่โคฐาภยะจะหลบหนีไปยังมัลดีฟส์เมื่อวันที่ 13 ก.ค. และรานิลขึ้นมารักษาการตำแหน่งผู้นำประเทศ ก่อนที่สภาศรีลังกาจะเลือกรานิลขึ้นมารับตำแหน่ง ปธน. อย่างเป็นทางการในวันที่ 21 ก.ค. ส่วนโคฐาภยะก็เดินทางไปยังสิงคโปร์ก่อนที่จะมุ่งหน้ามายังไทย

  • ที่มา: เอพี, รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG