ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การศึกษาชี้ คนหนุ่มสาวอเมริกันไม่ย้ายไปไกลจากบ้านเกิด


Census Young Adult Migration
Census Young Adult Migration

ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ผู้คนวัยหนุ่มสาวในสหรัฐฯ จะมีโอกาสย้ายถิ่นฐานมากที่สุดในกลุ่มช่วงอายุอื่น ๆ แต่ในการศึกษาล่าสุดนี้พบว่า คนหนุ่มสาวชาวอเมริกัน กลับเลือกอาศัยไม่ไกลจากถิ่นกำเนิดมากขึ้น

การศึกษาใหม่โดยสำนักสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐฯ ร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่า มากกว่า 2 ใน 3 ของคนหนุ่มสาวที่มีอายุ 26 ปีขึ้นไปในสหรัฐฯ อาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านเกิดที่เติบโตมา

โดย 80% เลือกที่จะโยกย้ายไปอาศัยอยู่ในระยะที่น้อยกว่า 100 ไมล์ (161 กิโลเมตร) และ 90% เลือกที่จะย้ายไปอาศัยอยู่ในระยะน้อยกว่า 500 ไมล์ (804 กิโลเมตร) ในขณะที่กลุ่มคนผิวดำและคนเชื้อสายฮิสแปนิกเลือกที่จะอยู่อาศัยใกล้กับพื้นที่ที่ตนเองเติบโตมามากกว่า เมื่อเทียบกับคนผิวขาวและคนเอเชีย ส่วนคนที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้สูง ลูกหลานมักที่จะเลือกย้ายไปอาศัยไกลกว่าเมื่อเทียบกับครอบครัวที่มีรายได้น้อย

Census Young Adults
Census Young Adults

รัศมีแห่งโอกาสทางเศรษฐกิจที่จำกัด

ในรายงานกล่าวว่า “รัศมีแห่งโอกาสทางเศรษฐกิจ” ของบุคคลมีค่อนข้างจำกัด ในประเทศสหรัฐฯ วัยหนุ่มสาวเป็นช่วงชีวิตที่การย้ายถิ่นฐานสูงที่สุด จากการศึกษาที่มุ่งไปยังผู้ที่เกิดระหว่างปี 1984 และ 1992 พบว่ามักที่จะย้ายออกจากพื้นที่บริเวณที่เติบโตมา โดยแหล่งที่พักอาศัยในเชิงภูมิศาสตร์ที่ใช้ในการวิเคราะห์ประชากรและเศรษฐกิจมักประกอบด้วยหลายเทศมณฑล ซึ่งจะสะท้อนภาพของตลาดแรงงานในท้องถิ่น โดยในสหรัฐฯ สามารถแบ่งออกได้เป็นจำนวน 700 แห่ง

จากการศึกษาที่อ้างอิงการสำรวจสำมะโนประชากร รวมถึงข้อมูลภาษีในรอบทศวรรษ ชี้ว่า คนหนุ่มสาวมีจุดหมายในการย้ายที่อยู่อาศัยกระจุกตัวไปไม่ไกลจากบริเวณที่เติบโตมา

ตัวอย่างเช่น 3 ใน 4 ของผู้ที่เติบโตมาในนครชิคาโกมักที่จะเลือกอยู่ในบริเวณนั้น ส่วนเมืองร็อคฟอร์ดเป็นตัวเลือกลำดับต้น ๆ ของผู้ที่ต้องการย้ายถิ่นฐานแต่ยังอยากอาศัยอยู่ในรัฐอิลลินอยส์ อย่างไรก็ดีที่เมืองร็อคฟอร์ด มีประชากรหนุ่มสาวน้อยกว่า 1% ที่ย้ายมาจากนครชิคาโก ส่วนนครลอสแองเจลิสเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ สำหรับผู้ที่ต้องการย้ายออกนอกรัฐ แต่ในการศึกษากลับพบว่า ที่นครลอสแองเจลิสกลับมีคนหนุ่มสาวจากนครชิคาโกเพียงแค่ 1.1%

การศึกษายังชี้ว่า ปัจจัยด้านเชื้อชาติมีผลต่อการโยกย้ายถิ่นฐาน สำหรับกลุ่มคนผิวดำวัยผู้ใหญ่ พบว่านครแอตแลนตาได้รับความนิยมสูงที่สุดหากต้องการย้ายออกจากบ้านเกิด ตามมาด้วยนครฮิวสตันและกรุงวอชิงตัน ปรากฏการณ์นี้ถูกเรียกว่า "การย้ายถิ่นฐานใหญ่ครั้งใหม่" และยังพบอีกว่า คนผิวดำวัยหนุ่มสาวที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้สูง มักที่จะย้ายไปยังเมืองข้างต้นมากกว่ากลุ่มคนที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย

Poll Young Adults
Poll Young Adults

เมืองใหญ่ยอดนิยมยังเนื้อหอมในหมู่ผู้โยกย้าย

สำหรับเมืองใหญ่ที่เป็นจุดหมายยอดนิยมมากที่สุดของคนผิวขาวที่ต้องการย้ายออกจากบ้านเกิด ได้แก่ นิวยอร์ก ลอสแองเจลิส วอชิงตัน และเดนเวอร์ ส่วน 2 เมืองใหญ่ที่คนเชื้อสายเอเชียและฮิสแปนิกสนใจที่จะย้ายไปมากที่สุดคือ ลอสแองเจลิสและนิวยอร์ก นอกจากนี้ยังมีเมืองอื่น ๆ เช่นกลุ่มเชื้อสายและฮิสแปนิกให้ความสนใจในเมืองซานอันโตนิโอ และฟีนิกซ์ ส่วนนครซาน ฟรานซิสโกได้รับความสนใจในหมู่คนหนุ่มสาวเชื้อสายเอเชียมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในการศึกษานี้พบว่า แม้พื้นที่ในบ้านเกิดอาจจะมีเศรษฐกิจที่ไม่สดใสและมีโอกาสด้านการงานในที่อื่น ๆ แต่คนหนุ่มสาวในพื้นที่แอพพาลาเชีย ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคตะวันออกของสหรัฐฯ กลับเลือกที่จะย้ายไปไม่ไกลจากบ้านเกิดเมื่อเทียบกับคนที่มาจากพื้นที่อื่น ๆ ที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน

ส่วนรายงานจากสถาบัน Brookings เผยว่าการย้ายถิ่นฐานไปอยู่ไกลจากถิ่นกำเนิดของประชากรโดยรวมในสหรัฐฯ มีทิศทางที่ลดลง รวมไปถึง “คนรุ่นมิลเลนเนียล” ในช่วงกลางศตวรรษที่ผ่านมา

ขณะที่เพียง 1 ใน 5 ของผู้ที่อาศัยในสหรัฐฯ ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะคนหนุ่มสาว มีการโยกย้ายถิ่นฐาน โดยตัวเลขดังกล่าวปรับลดจากช่วงปี 1950 ที่เคยอยู่ราว 20% ลดลงมาแตะระดับ 8.4% ในปีที่ผ่านมา โดยเชื่อว่าเป็นผลมาจาก ประชากรสูงวัย ครอบครัวที่มีรายได้จากสองแหล่งทำให้โยกย้ายลำบาก และล่าสุดคือผลพวงจากการระบาดใหญ่

ทางด้านการสำรวจของศูนย์วิจัย Pew Research Center ที่เผยแพร่ในเดือนกรกฏาคม แสดงให้เห็นว่า ในปี 2021 ราว 1 ใน 4 ของประชากรวัยผู้ใหญ่อายุ 25 -34 ปี ในสหรัฐฯ อาศัยอยู่ร่วมกับสมาชิกในครอบครัวที่มาจากหลายรุ่น โดยจัดว่าเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับข้อมูลจากปี 1971 ที่ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 9%

Census Young Adult Migration
Census Young Adult Migration

นอกจากนี้รายงานดังกล่าวยังชี้ว่า เมื่อมีการขึ้นค่าแรงในตลาดแรงงานท้องถิ่น ผู้อยู่อาศัยและเติบโตในพื้นที่ระยะไม่เกิน 100 ไมล์ (161 กิโลเมตร) จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์มากกว่ากลุ่มคนที่อพยพย้ายเข้ามาในพื้นที่

การขึ้นค่าแรงมีผลกระทบที่ค่อนข้างน้อยสำหรับกลุ่มผู้โยกย้ายถิ่นฐาน หรืออาจกล่าวได้ว่า การย้ายถิ่นของพวกเขาไม่ได้คำนึงถึงการปรับขึ้นค่าจ้าง และเมื่อพิจารณาด้านเชื้อชาติ จะพบว่า คนผิวดำหนุ่มสาว มีโอกาสน้อยที่จะพิจารณาเรื่องการย้ายถิ่นฐานที่มาจากการขึ้นค่าแรง โดยถือว่า มีสัดส่วนน้อยกว่าคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนผิวขาวและคนเชื้อสายฮิสแปนิก

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG