ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์: มาตรการลงโทษรัสเซียจะใช้ได้ผลหรือไม่?


Russia Ukraine War Russia Economy
Russia Ukraine War Russia Economy
ท่ามกลางความตึงเครียดในสมรภูมิรบระหว่างรัสเซียและยูเครน สหรัฐฯและนานาประเทศได้ตอบโต้รัฐบาลเครมลินด้วยการใช้มาตรการลงโทษทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจที่รุนแรงในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
นับตั้งแต่วันที่กองกำลังทหารรัสเซียได้เคลื่อนที่เข้าบุกรุกพรมแดนของประเทศยูเครนเพื่อทำสงคราม ประธานาธิบดี​สหรัฐฯโจ ไบเดน ได้ประกาศชัดเจนว่า สหรัฐฯจะตอบโต้รัฐบาลเครมลินด้วยการใช้มาตรการลงโทษทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจที่รุนแรง แทนที่จะเป็นการส่งทหารอเมริกาเข้าไปต่อสู้ในสมรภูมิ

ขณะนี้ รัสเซียกำลังพยายามทุกวิถีทางเพื่อจะยับยั้งการล่มสลายของเศรษฐกิจในประเทศ หลังนานาชาติร่วมมือกันระงับการทำธุรกรรมการเงินกับธนาคารบางแห่งของรัสเซีย พร้อมยังมีการแช่แข็งสินทรัพย์ของธนาคารกลางของรัสเซียและผู้มีอำนาจทางธุรกิจใหญ่ๆ ของรัสเซียในต่างประเทศอีกด้วย
ดาลีป ซิงห์ รองที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ กล่าวเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ซึ่งเป็นวันแรกที่รัสเซียบุกยูเครนว่า สิ่งที่รัสเซียจะต้องชดใช้จากการรุกรานยูเครนจะสร้างความเสียหายที่รวดเร็วและรุนแรงต่อระบบการเงิน เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และอิทธิพลของรัสเซียต่อโลกมาก

ทางด้าน โรเบิร์ต เพอร์สัน อาจารย์รัฐศาสตร์แห่งโรงเรียนเตรียมทหาร West Point ในรัฐนิวยอร์ก กล่าวเสริมว่า “สหรัฐฯกำลังเตรียมตัวที่จะเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมืองและเศรษฐกิจในระยะยาวกับรัสเซีย บางคนเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า‘นโยบายปิดล้อม 2.0’ สิ่งสำคัญที่ควรระลึกถึงคือ ต้องใช้ระยะเวลาถึง 74 ปีกว่าที่สหภาพโซเวียดจะล่มสลายเพราะพิษทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ความอดทนในระยะยาวจึงเป็นสิ่งจำเป็น”
ตามปกตินั้น มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจะถูกนำมาใช้เมื่อการเจรจาทางการทูตไม่ประสบผลสำเร็จ โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีอำนาจออกมาตรการลงโทษผ่านคำสั่งฝ่ายบริหาร (executive order) ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจฉุกเฉินระหว่างประเทศ หรือ International Emergency Economic Powers Act (IEEPA) โดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา แต่ทางรัฐสภาเองก็สามารถออกมาตรการลงโทษได้เช่นกัน

นักวิเคราะห์จากสมาคม Atlantic Council ไบรอัน โอทูล และ ซาแมนต้า ซัลทูน อธิบายว่า การใช้อำนาจทางกฎหมายอย่างถูกต้องของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ภายใต้ IEEPA เพื่อออกมาตรการลงโทษนั้น จำเป็นต้องมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาติสืบเนื่องจากภัยคุกคามที่ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศซึ่งอาจกระทบกับนโยบายต่างประเทศ ความมั่นคงแห่งชาติ หรือเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
และแม้มาตรการลงโทษส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปทางด้านเศรษฐกิจ แต่ก็มีมาตรการลงโทษทางการเมืองที่พยายามแก้ปัญหาหลากรูปแบบ ตั้งแต่การจำกัดการสั่งสมอาวุธ การลงโทษผู้ที่ละเมิดสิท​ธิมนุษยชนหรือก่อการร้าย และข้อพิพาทด้านการค้า
นับจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ สหรัฐฯใช้มาตรการลงโทษต่างๆ ไปแล้วกับ 23 ประเทศทั่วโลก
สำหรับวิธีการใช้มาตรการลงโทษนั้น สหรัฐฯไม่สามารถบังคับให้ประเทศอื่นหรือพลเมืองของชาติอื่นปฏิบัติตามได้ หลักๆ ที่ทำได้คือการขอความร่วมมือ โดยในกรณีของรัสเซีย สหรัฐฯ และหลายประเทศในยุโรปได้ช่วยกันขับสถาบันการเงินหลายแห่งของรัสเซียออกจากระบบชำระเงินระหว่างประเทศ (Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication - SWIFT)


ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จากรัฐบาลเครมลินได้กล่าวว่า มาตรการลงโทษจากนานาชาตินั้นไม่มีความสำคัญและจะไม่เกิดผลร้ายแรงใดๆ ต่อรัสเซีย แต่หลายคนที่จับตาดูสถานการณ์อยู่ในขณะนี้ต่างบอกว่า ยังเร็วเกินไปที่จะรู้ว่ามาตรการลงโทษต่างๆ จะกระทบเศรษฐกิจรัสเซียอย่างไร

มาตรการลงโทษนั้นสามารถถูกปรับเปลี่ยน ลดหย่อน หรือระงับใช้ได้ทุกเวลาตามความเห็นชอบของรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้ ประสิทธิของมาตรการลงโทษจึงมักถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นให้นักวิเคราะห์ถกกันอยู่บ่อยครั้งว่ามีประสิทธิภาพมากแค่ไหน
โดยเมื่อกลางปี 2019 บทความของนิตยสาร Foreign Affairs ได้ระบุว่า นักวิเคราะห์หลายคนเห็นว่ามาตรการลงโทษนั้นสร้างผลแง่ลบมากกว่าผลด้านบวก เพราะประชาชนทั่วไปคือผู้ที่ต้องแบกรับความยากลำบากจากเศรษฐกิจที่ไม่สามารถเดินต่อไปได้
ดาลีป ซิงห์ รองที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวว่า มาตรการลงโทษรัฐบาลเครมลินจะทำให้อัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยในรัสเซียพุ่งสูงขึ้น ซ้ำยังจะลดกำลังซื้อของผู้บริโภค ลดการลงทุน ลดมาตรฐานการดำรงชีวิตและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรัสเซียไปข้างหน้าอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ดาลีป ซิงห์ ย้ำว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ผลลัพธ์ที่สหรัฐฯ ต้องการ เป็นเรื่องน่าสลดสำหรับชาวยูเครนและการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรมต่อชาวรัสเซีย แต่สงครามนี้เกิดขึ้นเพราะการตัดสินใจของประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์​ ปูติน ดังนั้นสหรัฐฯ จึงจำต้องทำสิ่งที่เคยประกาศไว้เพื่อให้การบุกยูเครนของรัสเซียเป็นยุทธศาสตร์ที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง”
XS
SM
MD
LG