ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เหตุรัสเซียบุกยูเครน เขย่าจุดยืนในเวทีโลกของเอเชีย


Activists hold placards as they gather near the Russian embassy to protest Russia's invasion of Ukraine, in Tokyo on Feb. 25, 2022.
Activists hold placards as they gather near the Russian embassy to protest Russia's invasion of Ukraine, in Tokyo on Feb. 25, 2022.

สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ประกาศมาตรการลงโทษต่อรัสเซียต่อเหตุบุกรุกยูเครน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่สิงคโปร์ออกมาตรการลงโทษฝ่ายเดียวต่อประเทศอื่น หลังจากที่เคยออกมาตรการลงโทษเวียดนามที่บุกรุกกัมพูชาเมื่อ 44 ปีที่แล้ว

ที่ผ่านมา สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศขนาดเล็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พยายามจะไม่เลือกข้างระหว่างประเทศมหาอำนาจ แต่ในสถานการณ์ครั้งนี้ นายวิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า สิงคโปร์ต้องยืนหยัดต่อหลักการที่เป็นพื้นฐานของเอกราชและอธิปไตยต่อประเทศขนาดเล็กเช่นตน

ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ในภูมิภาค เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ต่างร่วมออกมาตรการลงโทษรัสเซียเช่นเดียวกับชาติตะวันตก นอกจากนี้ ยังมีการประท้วงต่อต้านสงครามในเมืองขนาดใหญ่ของเอเชีย เช่น กรุงเทพฯ กรุงโตเกียว กรุงโซล และนครซิดนีย์ด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางจีนและเกาหลีเหนือระบุว่า รัสเซียมี “ผลประโยชน์ด้านความมั่นคงที่ชอบธรรม” ต่อการกระทำดังกล่าว และระบุว่าสหรัฐฯ เป็นต้นตอของความขัดแย้งนี้ ในขณะที่หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและทางทหารที่แน่นแฟ้นกับรัสเซียตั้งแต่สมัยสงครามเย็น เลือกที่จะเงียบเฉยต่อประเด็นยูเครน

เหตุการณ์บุกรุกยูเครนของรัสเซียส่งผลต่อภูมิรัฐศาสตร์ของเอเชียอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศที่ปกติพยายามวางตนเป็นกลางต้องออกมาแสดงจุดยืน

สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีท่าทีต่อเหตุการณ์ครั้งนี้มากที่สุด โดยเมื่อวันจันทร์ สิงคโปร์ประกาศควบคุมการส่งออกสินค้าที่อาจถูกใช้เป็นอาวุธได้ในยูเครน และจะปิดกั้นธนาคารรัสเซียและการทำธุรกรรมทางการเงินของรัสเซียบางส่วนด้วย

รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ระบุว่า สิงคโปร์พยายามเลี่ยงการเลือกข้าง แต่ในบางโอกาส สิงคโปร์จะต้องแสดงจุดยืนบนพื้นฐานของหลักการ แม้อาจเป็นจุดยืนที่ขัดต่อมหาอำนาจก็ตาม

ลิม ไท เหว่ย นักวิจัยของสถาบันเอเชียตะวันออก มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวกับวีโอเอว่า สิงคโปร์ ซึ่งเป็นชาติที่มีประชากรน้อยกว่า 6 ล้านคนและไม่มีทรัพยากรธรรมชาติเป็นของตนเอง ให้ความสำคัญต่ออธิปไตยมาก และสิงคโปร์อาจเห็นว่า หากประเทศที่อ่อนแอกว่าถูกยึดครอง สถานการณ์เดียวกันก็อาจเกิดกับประเทศขนาดเล็กเช่นตนได้

ชาติพันธมิตรสหรัฐฯ แสดงจุดยืนต้านรัสเซีย

ในสัปดาห์นี้ ญี่ปุ่นพยายามจำกัดการเข้าถึงเงินสำรองจากการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของธนาคารกลางรัสเซีย และจะร่วมกับประเทศอื่นๆ ในการขับธนาคารรัสเซียออกจากระบบชำระเงิน SWIFT ด้วย

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ญี่ปุ่นเผยมาตรการต่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซียคนอื่นๆ และในสัปดาห์นี้ ญี่ปุ่นประกาศว่าจะมอบเงินกู้มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์และความช่วยเหลือฉุกเฉินด้านมนุษยธรรมอีก 100 ล้านดอลลาร์ให้แก่ยูเครน

ท่าทีของญี่ปุ่นครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนทิศทางนโยบายต่างประเทศครั้งใหญ่ โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นพยายามสร้างความสัมพันธ์กับรัสเซียเพื่อลดความตึงเครียดและแก้ปัญหาข้อพิพาทชายแดนในเกาะสี่เกาะทางตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก

เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นชาติพันธมิตรอีกแห่งของสหรัฐฯ แสดงจุดยืนชัดเจนขึ้นเช่นกัน โดยเมื่อวันจันทร์ กระทรวงต่างประเทศเกาหลีใต้ประกาศว่า เกาหลีใต้จะขับธนาคารรัสเซียออกจากระบบ SWIFT และสั่งห้ามการขนส่ง “สินค้าทางยุทธศาสตร์” เช่น เซมิคอนดักเตอร์ อุปกรณ์นำทาง อุปกรณ์การบิน และอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ

สำนักข่าวยอนฮัพของเกาหลีใต้รายงานว่า แอนดรีย์ คูลิก ทูตรัสเซียประจำเกาหลีใต้ เตือนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้และรัสเซียอาจเปลี่ยนแปลงไปหลังมีความสัมพันธ์ที่ดีมา 30 ปี ทูตรัสเซียยังระบุด้วยว่า จะระงับความช่วยเหลือจากรัสเซียในโครงการความร่วมมือต่อเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ซึ่งแม้โครงการนี้จะยังไม่เกิดขึ้น แต่การฟื้นฟูโครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในประเด็นที่ประธานาธิบดีมุน แจ-อิน ของเกาหลีใต้ ให้ความสำคัญ

รัฐบาลไต้หวัน ซึ่งต่อต้านภัยคุกคามจากจีนมาโดยตลอด ประณาม “สงครามป่าเถื่อน” ของรัสเซียเช่นกัน และระบุว่า ตนจะช่วยต่อสู้กับ “การขยายของลัทธิอำนาจนิยม”

ออสเตรเลียระบุว่า การรุกรานของรัสเซียเป็นสิ่งที่ “โหดร้าย” และออกมาตรการลงโทษ ในขณะที่นิวซีแลนด์ประณามสงครามรัสเซียและออกมาตรการห้ามเดินทางเข้าประเทศ แต่ไม่ได้ออกมาตรการลงโทษรัสเซียมากกว่านี้

ความเป็นกลางของอาเซียน

สถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นซับซ้อนกว่า โดยทั้งกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ต่างมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซีย

เมื่อสัปดาห์แล้ว อาเซียนออกแถลงการณ์ต่อสถานการณ์ยูเครน โดยเลี่ยงการใช้คำว่า “บุกรุก” ต่อการกระทำของรัสเซีย และไม่ได้กล่าวถึงรัสเซียเลย และกลับเรียกร้องให้ “ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” ยับยั้งการกระทำของตนแทน

ลิม แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ระบุว่า อาเซียนอาจพยายามเข้าใกล้ความเป็นกลางมากที่สุด เนื่องจากประเทศสมาชิกเกือบครึ่งหนึ่งของอาเซียนมีความสัมพันธ์ยาวนานกับรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม การที่ไทยกับฟิลิปปินส์เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ อาจทำให้ท่าทีของประเทศในภูมิภาคโดยรวมมีความสมดุลมากขึ้น

กระทรวงต่างประเทศของฟิลิปปินส์ทวีตข้อความเมื่อวันจันทร์ว่า ฟิลิปปินส์ประณามการบุกรุกยูเครนอย่างชัดเจน และจะลงคะแนนสนับสนุนมติประณามการกระทำของรัสเซียในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ

  • รายงานโดยผู้สื่อข่าววีโอเอ William Gallo
XS
SM
MD
LG