ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ประกาศความสำเร็จของนโยบายเศรษฐกิจที่กระตุ้นการเจริญเติบโต "ตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับกลาง" และสามารถควบคุมเงินเฟ้อควบคู่ไปกับการจ้างงานได้
ปธน.ไบเดน กล่าวที่นครชิคาโกในวันพุธ เผยวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจของตนภายใต้นโยบายที่เรียกว่า ไบเดนนอมิกส์ (Bidenomics) ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ บอกว่าช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตในอัตราที่สูงที่สุดประเทศหนึ่งนับตั้งแต่สิ้นสุดการระบาดของโควิด-19
ไบเดน กล่าวว่า "เราสร้างงานเพิ่ม 13 ล้านตำแหน่งในช่วงสองปี ซึ่งมากกว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทุกคนในช่วงสี่ปีแรกที่เข้ารับตำแหน่ง" และว่า "นั่นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเพราะไบเดนนอมิกส์"
ปธน.ไบเดน สรุปนโยบายเศรษฐกิจของตนเองเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ การลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่ในอเมริกา, ให้การศึกษาและสนับสนุนคนทำงานอเมริกันให้ขยายสถานะของชนชั้นกลาง, เกื้อหนุนการแข่งขันเพื่อลดต้นทุนและช่วยธุรกิจรายย่อย
ดัชนีทางเศรษฐกิจล่าสุดแสดงให้เห็นว่า อเมริกามีอัตราการจ้างงานสูงขึ้นขณะที่อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงในเดือนพฤษภาคม แม้จะยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ตั้งเป้าไว้
อย่างไรก็ตาม คนอเมริกันส่วนใหญ่ยังคงมองเศรษฐกิจในด้านลบ โดยผลสำรวจความเห็นล่าสุดที่จัดทำโดย อิปซอส (Ipsos poll) ชี้ให้เห็นว่า ระดับการยอมรับการทำงานของปธน.ไบเดน ในหมู่คนอเมริกันยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 40 กว่าเปอร์เซนต์ ซึ่งประเด็นทางเศรษฐกิจถือเป็นสิ่งที่ชาวอเมริกันกังวลมากที่สุด
อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ คู่แข่งชิงตำแหน่งปธน.กับ ไบเดน เมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งประกาศตัวลงชิงชัยอีกครั้งในปีหน้า กล่าวโจมตีนโยบายเศรษฐกิจของไบเดนว่า "เก็บภาษีอัตราสูง มีกฎเกณฑ์ควบคุมมากมาย เงินเฟ้อหนัก ทำลายภาคพลังงานอเมริกัน ต้นทุนเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ทำลายข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น สนธิสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก และยอมพ่ายแพ้ทางเศรษฐกิจต่อจีนและประเทศอื่น ๆ เป็นนโยบายที่ทำให้อเมริกาไปอยู่ท้ายแถวต่างจากนโยบายอเมริกามาก่อน (ของตนเอง)"
คริส แจ็คสัน โฆษกของอิปซอส ผู้จัดทำผลสำรวจดังกล่าว ชี้ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่แท้จริงอาจไม่ได้สะท้อนออกมาในรูปของทัศนคติที่คนอเมริกันมีต่อเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ เนื่องจากคนอเมริกันส่วนใหญ่ยังคงรับรู้ถึง "ข่าวร้าย" จากอัตราเงินเฟ้อสูงและปัญหาห่วงโซ่อุปทานในช่วงที่ผ่านมา เมื่อทียบกับ "ข่าวดี" คืออัตราการว่างงานต่ำและเงินเฟ้อที่ลดลง ซึ่งมีคนรับรู้น้อยกว่า
และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้ไบเดนต้องออกเดินสายชูความสำเร็จของผลงานทางเศรษฐกิจของตนเองในขณะนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการประชาสัมพันธ์ของทำเนียบขาวเป็นเวลาสามสัปดาห์เพื่อยกย่องกฎหมายสามฉบับที่ไบเดนเป็นผู้ลงนาม คือ กฎหมายโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure law) กฎหมายบรรเทาทุกข์จากโควิด-19 (COVID-19 relief package) และกฎหมายชิปคอมพิวเตอร์และวิทยาศาสตร์ (CHIPS and Science Act) ซึ่งอัดฉีดเงินราว 52,000 ล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอเมริกัน
แต่ทางสมาชิกพรรครีพับลิกันแย้งว่า นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้เป็นสาเหตุหลักของเงินเฟ้อ พร้อมระบุว่าการจ้างงานส่วนใหญ่ในช่วงที่ผ่านมาคืองานที่หายไปในช่วงการระบาดของโควิด ไม่ใช่การสร้างงานใหม่แต่อย่างใด
ถึงกระนั้น การที่ทำเนียบขาวตัดสินใจผูกชื่อของประธานาธิบดีไบเดนไว้กับนโยบายเศรษฐกิจภายใต้ "ไบเดนนอมิกส์" ก็สะท้อนถึงความมั่นใจของรัฐบาลที่มีต่อทิศทางเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ว่าจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย อย่างน้อยก็จนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน ปีหน้า
- ที่มา: วีโอเอ