เริ่มมีกระแสต่อต้าน 'ทรัมป์' ในเกาหลีใต้ จากท่าทีเป็นมิตรกับเกาหลีเหนือ

U.S. President Donald Trump meets with North Korean leader Kim Jong Un at the DMZ

เท่าที่ผ่านมา กลุ่มอนุรักษ์นิยมในเกาหลีใต้เป็นกลุ่มที่มักให้ความสนับสนุนสหรัฐ แต่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังนี้ นักการเมืองและผู้คนในเกาหลีใต้เริ่มมีท่าทีตำหนิวิจารณ์ผู้นำสหรัฐในหลายเรื่องด้วยกัน

เริ่มตั้งแต่เรื่องที่ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวยกย่องนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ขณะที่กดดันเกาหลีใต้ให้ช่วยแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการทหารของสหรัฐ จนถึงการที่ประธานาธิบดีทรัมป์เห็นด้วยกับท่าทีของเกาหลีเหนือซึ่งตำหนิโจมตีการซ้อมรบร่วมระหว่างสหรัฐกับเกาหลีใต้

รวมทั้งการที่ผู้นำสหรัฐยอมให้เกาหลีเหนือพัฒนาระบบจรวดขีปนาวุธต่างๆ ซึ่งถึงแม้จะเป็นจรวดพิสัยใกล้ แต่ก็มีขีดความสามารถที่จะโจมตีถึงทุกพื้นที่ในเกาหลีใต้ได้

และนอกจากท่าทีเรื่องการทหารและความพยายามผูกมิตรกับนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ซึ่งสร้างความกังวลในหมู่นักการเมืองของเกาหลีใต้แล้ว กลุ่มด้านสิทธิมนุษยชนของเกาหลีใต้เองก็ตำหนิประธานาธิบดีทรัมป์ว่า เพิกเฉยเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือ รวมทั้งการที่กล่าวยกย่องนายคิม จอง อึน ด้วยว่ามีวิสัยทัศน์ที่เยี่ยมยอดและสวยงามสำหรับประเทศ เป็นต้น

นายโซ กยอง เต นักการเมืองอาวุโสคนหนึ่งของพรรค Liberty Korea ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของเกาหลีใต้ กล่าวว่า คำพูดและท่าทีต่างๆ ของประธานาธิบดีทรัมป์ ทำให้เกิดคำถามว่าสหรัฐเป็นประเทศที่เป็นมิตรและน่าไว้เนื้อเชื่อใจของเกาหลีใต้จริงหรือไม่

ส่วนนายฮู กาง อิล จากหน่วยงานเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชนของเกาหลีใต้ ก็กล่าวว่าตนรู้สึกสะอิดสะเอียนเมื่อได้ยินประธานาธิบดีทรัมป์เรียกนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือว่าเป็น "เพื่อนสนิท" และให้ความเห็นว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ฉกฉวยประโยชน์จากเรื่องเกาหลีเหนือเพื่อสร้างภาพและคะแนนนิยมให้กับตนเอง ทั้งยังตำหนิผู้นำสหรัฐด้วยว่า เปรียบเสมือน "นักธุรกิจการเมือง"

โดยทั่วไปแล้ว การวิพากย์ตำหนิสหรัฐนั้นไม่ค่อยจะเกิดขึ้นบ่อยนักในเกาหลีใต้ และผลการสำรวจของ Pew Research เมื่อปีที่แล้ว แสดงว่า 80% ของชาวเกาหลีใต้มีทัศนคติในทางบวกต่อสหรัฐ

ผลการสำรวจเดียวกันนี้ยังระบุด้วยว่า 44%ของชาวเกาหลีใต้มีความเชื่อมั่นในตัวประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งทัศนคติในเชิงบวกนี้ก็เป็นของนักการเมืองส่วนใหญ่ของเกาหลีใต้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมหรือที่มีแนวทางก้าวหน้า

อย่างเช่นประธานาธิบดีมูน แจ อิน ของเกาหลีใต้เอง ซึ่งมีแนวทางก้าวหน้า ได้กล่าวว่า ผู้นำสหรัฐสมควรได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากการเจรจากับผู้นำเกาหลีเหนือ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นักการเมืองบางคนของเกาหลีใต้เตือนว่า การไม่ใช้ความคิดและการพูดแบบไม่ไตร่ตรองของประธานาธิบดีทรัมป์ เช่น การระบุว่าเกาหลีใต้เอาเปรียบสหรัฐ และไม่ยอมรับผิดชอบอย่างเหมาะสมเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับการมีกำลังทหารสหรัฐอยู่ในประเทศนั้น อาจจะทำลายความเป็นพันธมิตรระหว่างเกาหลีใต้กับสหรัฐได้

ส่วนอาจารย์เจฟฟรีย์ โรเบิร์ตสัน ผู้บรรยายที่มหาวิทยาลัยยอนไซ ในเกาหลีใต้ ก็เตือนว่า โดยทั่วไปแล้วชาวเกาหลีใต้มักจะละเว้นการวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิสหรัฐ แต่กระแสต่อต้านอเมริกันนั้นฝังรากลึกอยู่ในเกาหลีใต้ และทัศนคติเรื่องนี้สามารถเหวี่ยงไปมาเหมือนลูกตุ้ม

ดังนั้นคำพูดและท่าทีของผู้นำสหรัฐทั้งในทางลบเกี่ยวกับเกาหลีใต้ และในแง่บวกต่อผู้นำเกาหลีเหนือนั้น อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ผลักดันกระแสต่อต้านสหรัฐในเกาหลีใต้ได้ในที่สุด