'อุปสรรคและแรงกดดัน' ในความพยายามส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวพม่าในไทยกลับประเทศ

Karen refugees practice their singing before a morning prayers at a church inside Mae La refugee camp in Tha Song Yang district, Tak province northern Thailand, Jan. 19, 2012.

Your browser doesn’t support HTML5

Thai Refugee

ความพยายามที่จะนำตัวผู้ลี้ภัยชาวพม่าในประเทศไทย 98,000 คนกลับประเทศ โดยมีสหประชาชาติเป็นผู้สนับสนุน กำลังดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ภายใต้แรงกดดันจากผู้บริจาคระหว่างประเทศที่จะลดจำนวนเงินที่ให้กับค่ายผู้ลี้ภัยทางภาคตะวันตกของประเทศไทย

ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งและความล้าหลังของระบบสาธารณสุขและโครงสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ในเมียนม่า ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ลี้ภัยเหล่านั้น ลังเลที่จะกลับสู่ประเทศของตน

ค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งบริเวณชายแดนด้านตะวันตกของประเทศไทย เริ่มเปิดรับผู้ลี้ภัยชาวพม่ามาตั้งแต่กว่า 30 ปีที่แล้ว แต่ขณะนี้กำลังมีความพยายามที่จะส่งตัวชาวพม่าเหล่านั้นกลับประเทศ หลังจากที่พม่า หรือเมียนม่า เริ่มเปิดประเทศและมีการเลือกตั้งอย่างเสรีเมื่อสองปีก่อน

ขณะที่รัฐบาลเมียนม่าก็กำลังหาทางจัดทำข้อตกลงสันติภาพกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ แม้กระบวนการดังกล่าวจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า

Thailand Refugees

คุณซอว์ พอล ฉ่วย ทวา ผอ.องค์กร Karen Environmental and Social Action Network หรือ KESAN กล่าวว่า "แรงกดดันที่ให้ผู้ลี้ภัยในประเทศไทยเดินทางกลับสู่มาตุภูมินั้น มาจากเงินบริจาคที่ลดลงและการจัดตั้งโครงการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวพม่ากลับประเทศ"

อย่างไรก็ตาม คุณฉ่วย ทวา บอกว่าความกังวลที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้คือ หากผู้ลี้ภัยเหล่านั้นถูกกดดันให้กลับประเทศโดยไม่มีปัจจัยพื้นฐานหรือความร่วมมือจากทางรัฐบาลเมียนม่ารองรับ ก็อาจทำให้เกิดความวุ่นวายได้

รายงานขององค์กร The Border Consortium หรือ TBC ในประเทศไทย ระบุว่ามีหลักฐานชัดเจนถึงเงินบริจาคที่ลดลง จากองค์กรผู้บริจาคในนอร์เวย์ สวีเดน และสหรัฐฯ

ขณะที่หนังสือพิมพ์อิระวดีในเมียนม่า รายงานว่าเจ้าหน้าที่ราว 10,000 คนที่ทำงานอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งตามแนวพรมแดนไทย – เมียนม่า อาจถูกลดเงินเดือน สืบเนื่องจากเงินบริจาคระหว่างประเทศที่ลดลง

ทางด้านโฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ หรือ UNHCR กล่าวกับวีโอเอว่า "โครงการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวพม่ากลับประเทศนี้ คือโครงการนำร่องที่จัดทำขึ้นสำหรับผู้ที่แจ้งความจำนงกับสหประชาชาติว่าต้องการกลับประเทศบ้านเกิด"

และว่า "ขณะนี้มีผู้ลี้ภัยชาวพม่าในประเทศไทยหลายร้อยคนที่แจ้งมาแล้วว่าอย่างกลับประเทศ ซึ่งทาง UNHCR ก็ได้ประสานไปทางรัฐบาลเมียนม่าแล้ว"

FILE - A group of Myanmar refugees are seen on a pick-up truck in Mae Sot, Thailand.

ถึงกระนั้น เจ้าหน้าที่องค์กรด้านมนุษยธรรมหลายแห่งระบุว่า ความไม่แน่นอนทางการเมือง รวมทั้งความขัดแย้งและความล้าหลังของระบบสาธารณสุขและโครงสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ในเมียนม่า คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ลี้ภัยจำนวนมากลังเลที่จะกลับสู่ประเทศของตน

คุณ Sally Thompson แห่ง The Border Consortium บอกว่า ไม่มีปัจจัยดึงดูดให้ผู้ลี้ภัยข้ามพรมแดนกลับไปยังภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนม่า กล่าวคือกระบวนการสันติภาพยังคงเป็นไปอย่างเชื่องช้า และผู้คนก็ยังคงไม่เชื่อใจในกองทัพเมียนม่า ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่จะสามารถฟื้นฟูกลับมาได้

นอกจากนี้ยังขาดแรงจูงใจทั้งทางด้านสาธารณสุข การศึกษา และเศรษฐกิจ

An illegal immigrant boy from Myanmar collects plastic at a rubbish dump near Mae Sot December 22, 2009.

เจ้าหน้าที่องค์กรด้านมนุษยธรรมผู้นี้บอกว่า ด้วยเหตุนี้ ผู้ลี้ภัยชาวพม่าจำนวนมากในประเทศไทยจึงยังคงเปิดทางเลือกต่างๆ เอาไว้ คือในด้านหนึ่งก็ยังต้องการได้รับความคุ้มครองเมื่ออยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย แต่อีกด้านหนึ่งก็กำลังวางแผนกลับบ้านเกิดในอนาคตอันใกล้นี้เช่นกัน

(ผู้สื่อข่าว Ron Corben รายงานจากกรุงเทพฯ / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)