คำกล่าว "ขอโทษ" หรือ "เสียใจ" อาจไม่ช่วยให้ผู้ถูกปฏิเสธรู้สึกดีเสมอไป

rejection research

ผลการศึกษาชี้ว่าการบอกว่าเสียใจมักปิดกั้นโอกาสแสดงความผิดหวัง

Your browser doesn’t support HTML5

Apologize Under Intro to Sorry

รายงานการศึกษาวิจัยระดับหลังปริญญาเอกของคุณ Gili Freedman ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Frontier in Psychology ระบุว่า ในความสัมพันธ์ทางสังคมที่เรามีอยู่กับคนอื่น การตอบปฏิเสธคำขอต่างๆ ที่เราไม่สะดวก หรือทำไม่ได้นั้น ไม่ควรจะตามมาด้วยคำ "ขอโทษ" หรือคำว่า "เสียใจ"

เพราะถึงแม้คำว่า "เสียใจ" ที่เราแสดงออกมา อาจช่วยให้เรารู้สึกสบายใจขึ้นจากการต้องปฏิเสธคำขอต่างๆ ก็ตาม แต่เรื่องนี้ไม่ได้ทำให้ผู้ที่ถูกปฏิเสธรู้สึกดีขึ้นแต่อย่างใด และอาจทำให้รู้สึกว่าจำใจต้องยอมรับการถูกปฏิเสธนั้น

คุณ Gili Freedman นักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัยของ Dartmouth College ผู้ทำการศึกษาเรื่องนี้ อธิบายว่า ในทางกลับกัน คำปฏิเสธที่ไม่มีคำขอโทษหรือคำว่าเสียใจพ่วงตามมานั้น จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ถูกปฏิเสธสามารถแสดงอารมณ์ผิดหวัง น้อยใจ หรือโกรธออกมาได้ง่ายกว่า

และเรื่องนี้มีประโยชน์เพราะจะเป็นโอกาสที่ช่วยปลดเปลื้องทางอารมณ์ทำให้ผู้ถูกปฏิเสธสามารถก้าวข้ามคำปฏิเสธนั้นไปได้ แทนที่จะถูกเก็บกดไว้ในใจ หรือถูกกดดันให้ต้องยอมรับจากคำขอโทษ

ผลการศึกษาเรื่องนี้อธิบายด้วยว่า คำขอโทษ หรือคำว่าเสียใจ ดูจะเป็นการตอกย้ำซ้ำเติมความรู้สึกของผู้ถูกปฏิเสธมากกว่าจะช่วยลดความรู้สึกผิดหวังลง ซึ่งไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเรื่องนี้ได้ชี้ว่า ในบางลักษณะความสัมพันธ์ เช่น ในความสัมพันธ์ทางธุรกิจนั้น กฎเกณฑ์หรือกติกาเรื่องนี้อาจแตกต่างไป เช่น หากผู้จัดการฝ่ายบุคคลปฏิเสธผู้สมัครงาน หรือหัวหน้างานบอกว่า "ขอโทษ" หรือ "เสียใจ" ที่ต้องปลดคุณออกจากงาน

ในความสัมพันธ์แบบนี้การแสดงความเสียใจอาจช่วยให้ความรู้สึกของผู้ที่ถูกปฏิเสธดีขึ้นได้ เนื่องจากลักษณะของความสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับอำนาจนั้นแตกต่างไป