จำคุก 34 ปี! นักศึกษา ป.เอก ซาอุ เหตุรีทวีตข้อความต่อต้านรัฐ 

In this frame grab from Saudi state television footage, doctoral student and women's rights advocate Salma al-Shehab speaks to a journalist at the Riyadh International Book Fair in Riyadh, Saudi Arabia, in March 2014.

ศาลอาญาซาอุดีอาระเบียสั่งจำคุกซัลมา อัล-เชฮับ นักศึกษาปริญญาเอกเป็นเวลา 34 ปี ด้วยข้อหาเผยแพร่ “ข่าวลือ” และรีทวีตข้อความต่อต้านรัฐบาล เมื่อช่วยต้นเดือนที่ผ่านมา ตามรายงานของเอพีที่อ้างอิงจากเอกสารของศาลที่ได้รับเมื่อวันพฤหัสบดี

ทั่วโลกต่างประณามคำตัดสินครั้งนี้ ขณะที่นักเคลื่อนไหวและนักกฎหมายต่างเห็นว่า คำตัดสินจำคุกอัล-เชฮับ ซึ่งเป็นคุณแม่ลูกสอง นักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยลีดส์ในอังกฤษ และนักศึกษาระดับปริญญาเอกชั้นปีสุดท้ายในวิทยาลัยแพทย์ของมหาวิทยาลัยเดียวกัน เป็นคำตัดสินที่น่าตกตะลึง แม้เมื่อเทียบกับมาตรฐานโดยปกติของกระบวนการยุติธรรมในซาอุดีอาระเบียก็ตาม

คำตัดสินครั้งนี้มีขึ้นขณะที่เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงปราบปรามผู้เห็นต่าง แม้ว่าซาอุดีอาระเบียภายใต้การปกครองของพระองค์จะมอบเสรีภาพใหม่ ๆ ให้ประชาชน เช่น การอนุญาตให้ผู้หญิงขับรถได้ เป็นต้น

กลุ่มสิทธิมนุษยชน Freedom Initiative ในกรุงวอชิงตัน ระบุว่า อัล-เชฮับ ถูกควบคุมตัวระหว่างพักผ่อนกับครอบครัวเมื่อวันที่ 15 มกราคมปีที่แล้ว เพียงไม่กี่วันก่อนที่เธอวางแผนกลับอังกฤษ

เอกสารจากศาลที่เอพีได้รับระบุว่า อัล-เชฮับ กล่าวกับผู้พิพากษาว่า เธอถูกขังเดี่ยวกว่า 285 วันก่อนที่คดีของเธอจะถึงชั้นศาลด้วยซ้ำ

กลุ่ม Freedom Initiative ระบุว่า อัล-เชฮับ เป็นชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ ซึ่งเป็นนิกายส่วนน้อยในซาอุดีอาระเบีย โดยชาวนิกายดังกล่าวมักระบุว่า พวกตนเผชิญการกีดกันอย่างเป็นระบบในประเทศ ซึ่งมีชาวมุสลิมนิกายซุนนีเป็นส่วนใหญ่

เมื่อวันพฤหัสบดี กลุ่มสิทธิมนุษยชน Amnesty International ระบุว่า การไต่สวนอัล-เชฮับนั้น “ไม่เป็นธรรมอย่างร้ายแรง” และการตัดสินลงโทษเธอ “โหดร้ายและไม่เป็นไปตามกฎหมาย”

เอกสารจากศาลระบุว่า ผู้พิพากษาตัดสินว่า อัล-เชฮับ “ขัดขวางความสงบเรียบร้อยของประชาชน” และ “ทำลายความมั่นคงของสังคม” จากกิจกรรมทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยศาลระบุว่า อัล-เชฮับ ติดตามและรีทวีตบัญชีทวิตเตอร์ของผู้ต่อต้านระบอบการปกครอง และ “เผยแพร่ข่าวลือที่เป็นเท็จ”

ศาลซาอุดีอาระเบียตัดสินจำคุกอัล-เชฮับ ภายใต้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายและกฎหมายอาชญากรรมไซเบอร์ โดยหลังเธอพ้นโทษจำคุก 34 ปี เธอจะถูกห้ามเดินทางออกนอกประเทศต่ออีก 34 ปีด้วย

คำตัดสินครั้งนี้มีขึ้นขณะที่อัล-เชฮับ ยื่นอุทธรณ์ต่อคำตัดสินก่อนหน้านี้ ที่สั่งจำคุกเธอเป็นเวลาหกปี ซึ่งเป็นคำตัดสินที่อัยการรัฐของซาอุดีอาระเบียระบุว่า “เบาไป” เนื่องจากเธอ “สนับสนุนผู้ที่พยายามสร้างความไม่สงบและทำลายความมั่นคงของสังคม โดยเห็นได้จากการที่ติดตามและรีทวิตบัญชี (ทวิตเตอร์)”

รัฐบาลซาอุดีอาระเบียและสถานทูตซาอุดีอาระเบียในกรุงวอชิงตันและกรุงลอนดอน ไม่มีความเห็นต่อเหตุครั้งนี้

เมื่อวันพุธ เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า ทางกระทรวงกำลังศึกษากรณีนี้อยู่ และการใช้เสรีภาพในการแสดงออกเพื่อสิทธิสตรีไม่ควรเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

ทางด้านคณะกรรมการด้านเสรีภาพศาสนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ทวีตข้อความเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ซาอุดีระเบียมุ่งเป้าเล่นงาน อัล-เชฮับ จากการ “เคลื่อนไหวโดยสันติของเธอเพื่อนักโทษทางการเมือง” เช่นเดียวกับการที่เธอนับถือนิกายชีอะห์

นับตั้งแต่ทรงครองอำนาจทางการเมืองเมื่อปี 2017 เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงพยายามปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อให้ซาอุดีอาระเบียมีแหล่งรายได้อื่นนอกจากน้ำมัน เช่น โครงการพัฒนาการท่องเที่ยวครั้งใหญ่ อย่างไรก็ตาม ในภาคการเมืองเเละสังคม เจ้าชายผู้นี้เผชิญกระแสวิจารณ์จากการจับกุมทั้งผู้เห็นต่าง นักเคลื่อนไหว รวมทั้งสมาชิกร่วมราชวงศ์ และนักธุรกิจ

  • ที่มา: เอพี