หลายองค์กรทั่วโลกเร่งเร้า“ออง ซาน ซูจี” ปกป้องและยุติความรุนแรงต่อชาวโรฮิงจะ

A Rohingya family reaches the Bangladesh border after crossing a creek of the Naf river on the border with Myanmmar, in Cox's Bazar's Teknaf area, Sept. 5, 2017.

Your browser doesn’t support HTML5

“ออง ซาน ซูจี” ถูกแรงกดดันหลายด้านให้ปกป้องชาวโรฮิงจะ

หลายองค์กรรวมไปถึง “มาลาลา ยูซาฟไซ” เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เร่งเร้าให้ "อองซาน ซูจี" ออกมาปกป้องชาวโรฮิงจะและให้ความสำคัญในเหตุความรุนแรงที่แคว้นยะไข่ที่ทำให้มีผู้อพยพลี้ภัยกว่าแสนคนแล้ว

ความรุนแรงในแคว้นยะไข่ของเมียนมา ซึ่งเป็นการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับกลุ่มติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย Rohingya Salvation Army ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 400 คน

ในช่วงเหตุการณ์ระลอกใหม่นี้ ชาวโรฮิงจะซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลาม จำนวนเกือบ 125,000 คน ต้องหนีภัยข้ามพรมแดนไปที่บังคลาเทศช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา

นางออง ซาน ซูจี ผู้นำรัฐบาลเมียนมา กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ระหว่างการเป็นเจ้าภาพต้อนรับนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดิ ของอินเดีย

นางซูจีใช้ถ้อยคำเรียกเหตุการณ์ความสูญเสียนี้ว่าเป็นภัยก่อการร้าย ขณะขอบคุณอินเดียที่มีจุดยืนที่มั่นคง และเธอเชื่อว่าทั้งสองประเทศจะทำงานร่วมกันเพื่อไม่ให้การก่อการร้ายก่อตัวขึ้นในผืนแผ่นดินเมียนมาและในประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากนั้น นางซูจี กล่าวว่าเกิดการสร้างข่าวปลอมหรือ fake news ในสื่อออนไลน์ของตุรกี ซึ่งเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ ด้วยการปล่อยภาพเหยื่อชาวโรฮิงจะในเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวกับการปะทะกันครั้งนี้เพื่อปลุกปั่นให้มีการสนับสนุนฝ่ายก่อการร้าย

การออกสื่อของนางออง ซาน ซูจีครั้งนี้ ทำให้เธอถูกวิจารณ์จากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน Amnesty International

Tirana Hassan ผู้อำนวยการฝ่ายการรับมือกับวิกฤตการณ์ของ Amnesty International กล่าวว่า ในแถลงการณ์ครั้งแรกของนางซูจีต่อวิกฤติครั้งนี้ แทนที่เธอจะให้สัญญาว่าจะมีมาตรการที่เห็นผลในการปกป้องประชาชนในแคว้นยะไข่ เธอกลับแสดงท่าทีลดความสำคัญของเหตุการณ์

หลายประเทศมุสลิมกำลังกดดันให้เมียนมายุติความรุนแรง และช่วยปกป้องชาวโรฮิงจะ ซึ่งถูกปฏิเสธการให้สัญชาติจากทางการเมียนมา

ในอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก ผู้ประท้วงหลายพันคนรวมตัวกันหน้าสถานทูตเมียนมาที่กรุงจาการ์ต้า และเรียกร้องให้ทางการเมียนมาช่วยชาวโรฮิงจะ

อีกด้านหนึ่ง นักรณรงค์เพื่อสิทธิของสตรีมุสลิมในอัฟกานิสถาน Malala Yousafzai เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เช่นเดียวกับนางซูจี ส่งทวีต เรียกร้องให้นางซูจี ประณามความรุนแรงต่อชาวโรฮิงจะ

Girls Inc Malala Yousafzai

ส่วนเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ นาย Antonio Guterres เร่งเร้าให้ทุกฝ่ายช่วยยุติความรุนแรง และให้ทางการเมียนมาช่วยให้ความช่วยเหลือสามารถเข้าถึงผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวในบังคลาเทศว่า ทหารพม่าไม่ต้องการให้ชาวโรฮิงจะที่อพยพเข้าไปในบังคลาเทศกลับเข้ามาฝั่งเมียนมา และได้วางกับระเบิดตามแนวชายแดนในช่วงสามวันที่ผ่านมา เพื่อกันผู้อพยพไม่ให้ย้อนเข้ามาฝั่งของตนอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ทางการเมียนมาปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าฝ่ายตนใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงจะ และว่าทางการไม่ได้จำกัดการเข้าทำข่าวเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมกลุ่มนี้

(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของผู้สื่อข่าว Esha Sarai และ Richard Green)