สวัสดียามเช้า! ยานสำรวจดวงจันทร์ญี่ปุ่น 'ตื่นนอน' หลังหลับยาวสองสัปดาห์

  • AFP

ภาพที่ส่งมาจากยาน Smart Lander for Investigating Moon (SLIM) หลังจากลงจอดบนดวงจันทร์เมื่อวันที่ 20 ม.ค. และเผยแพร่โดย Japan Aerospace Exploration Agency (JAXA)

ยานลงจอดดวงจันทร์ของญี่ปุ่นสร้างความประหลาดใจให้นักวิทยาศาสตร์ ด้วยการตื่นขึ้นมาเองหลังการหลับใหลในช่วงกลางคืนบนดวงจันทร์นานสองสัปดาห์ จากการเปิดเผยของสำนักงานสำรวจอวกาศของญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency - JAXA)

ยาน Smart Lander for Investigating Moon (SLIM) ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์เมื่อเดือนที่แล้ว แต่ในขณะที่ลงจอดนั้น เกิดปัญหาที่เครื่องยนต์ของยาน ทำให้ยาน SLIM ลงจอดแบบเอียง และแผงโซลาร์หันไปทางทิศตะวันตกแทนที่จะเป็นด้านบน ส่งผลให้การรับพลังงานแสงอาทิตย์ทำได้ไม่สมบูรณ์ ทำให้ยานปิดตัวเองลงเมื่อไม่มีพลังงานเหลือ

แต่เมื่อดวงอาทิตย์โคจรเปลี่ยนทิศ ยานลำนี้ก็กลับตื่นขึ้นมาอีกครั้งเมื่อวันที่ 29 มกราคม และปฏิบัติภารกิจสำรวจดวงจันทร์ด้วยกล้องที่ติดอยู่ด้านนอกยานได้เป็นเวลาสองวันและส่งข้อมูลกลับมายังโลก แต่ก็กลับไปนอนหลับอีกครั้งเมื่อความมืดมาเยือน

และในวันจันทร์ สำนักงานสำรวจอวกาศของญี่ปุ่นโพสต์ทาง X ว่า "เมื่อวานนี้เราส่งคำสั่งไป ซึ่งยาน SLIM ตอบสนองกลับมาได้ ซึ่งยืนยันว่ายานสามารถรอดจากกลางคืนอันยาวนานและหนาวเย็นบนดวงจันทร์ และยังสามารถรักษาระบบการสื่อสารไว้ได้ด้วย"

Your browser doesn’t support HTML5

สหรัฐฯ นำยานลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งแรกในรอบ 50 ปี

อย่างไรก็ตาม JAXA ไม่สามารถยืนยันได้ว่ายานลำนี้จะตื่นได้อีกนานแค่ไหน หรือจะสามารถส่งการสื่อสารกลับมาอีกได้หรือไม่ และหากกลับไปนอนหลับอีกครั้งเมื่อเวลากลางคืนมาถึงมันจะตื่นนอนได้อีกหรือไม่

ทั้งนี้ กลางคืนบนดวงจันทร์มีเวลานานราวสองสัปดาห์และมีอุณหภูมิเย็นจัดในระดับ -130 องศาเซลเซียส ขณะที่กลางวันมีอุณหภูมิร้อนจัดถึง 100 องศาเซลเซียส

ยาน SLIM มีฉายาว่า "นักเล็งดวงจันทร์" หรือ "Moon Sniper" เนื่องจากมีเทคโนโลยีที่สามารถกำหนดจุดลงจอดได้อย่างแม่นยำ ร่อนลงบนพื้นผิวของดวงจันทร์ได้สำเร็จเมื่อวันที่ 20 มกราคม

SLIM ถือเป็นก้าวสำคัญของโครงการอวกาศของญี่ปุ่น หลังจากที่ประสบความล้มเหลวหลายครั้งก่อนหน้านี้ และทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่ 5 ที่สามารถส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ ต่อจากสหรัฐฯ สหภาพโซเวียต จีนและอินเดีย

  • ที่มา: เอเอฟพี และ space.com